วาทกรรมระเบียบวินัย กดทับความตระหนักเรื่องสิทธิ

สิทธิเสรีภาพหน้าที่ #1

ฝาท่อเมืองน่าน
ฝาท่อเรียบเนียนสะท้อนการออกแบบโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้ขับขี่จักรยานและมอเตอร์ไซต์ เขาสามารถขับขี่ได้ง่ายโดยไม่ต้องใช้ระเบียบวินัยมาบังคับห้ามออกเลนขวา

ปัญหาคนทิ้งขยะอุดทางระบายน้ำ, ขี่มอไซต์บนทางเท้า, หาบเร่แผงลอยบนที่สาธารณะ, คนชั้นกลางไม่สนใจสิทธิเลือกตั้งของคนอื่น ฯลฯ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องวินัย แต่เป็นปัญหาจากผู้ไม่มีสิทธิ หรือไม่ตระหนักถึงสิทธิของตน ย่อมไม่เข้าใจคนอื่นว่าเขาควรมีสิทธิอะไรหรือไม่

ทั้งหมดนี้สำหรับบางคนเข้าใจได้ยากจริงๆเพราะจากประสบการณ์ ผมเองก็ไม่เคยเรียนเรื่องสิทธิอย่างจริงจังตั้งแต่อยู่ในโรงเรียน เราถูกสอนให้ต้องมีวินัย แต่ไม่มีสิทธิ ( ถ้าสอบถามเพื่อนเก่าๆของผม ผมจะอยู่ในกลุ่มของเด็กเรียบร้อย คือไม่ได้เกี่ยวกับนิสัยแต่ทว่าสิโรราบต่อกฏระเบียบในสมัยเรียน )

แม้อธิบายยากแต่ยกตัวอย่างได้ง่าย เพียงคุณพิจารณาคาร์แรคเตอร์ของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศที่เขาถูกกดทับเรื่องสิทธิ เช่นจีน (กดทับด้วยการบังคับใช้กฏหมาย) และอินเดีย (กดทับด้วยศาสนา) ซึ่งเขาจะไม่เห็นสิทธิของคนอื่นเช่นกัน เขาสามารถแซงคิว, ทำสกปรก หรือไม่รักษาสัญญาได้อย่างเป็นปกติ

คุณลักษณะเผด็จการนั้นเน้นระเบียบวินัย ในทางทหารมันหมายถึงการปลูกฝังให้ผู้น้อยต้องมีระเบียบวินัยภายใต้ผู้ที่อยู่สูงกว่าอย่างปราศจากคำถาม เมื่อวันหนึ่งผู้น้อยคนนั้นไม่มีผู้ที่อยู่สูงกว่ามาควบคุมทุกอย่างก็จบ

ทางม้าลายเป็นตัวอย่างอันดีของผู้เดินเท้าที่ควรจะมีสิทธิหลับตาเดินข้ามได้ แต่เราเอาวินัยไปบังคับผู้ขับรถอันสูงศักดิ์ (ด้วยฐานะการเงินหรือโมเมนตัมของรถก็ตามแต่) ซึ่งก็เห็นว่าไม่ได้ผล และเมื่อคนเดินเท้าไปขับรถเขาก็มองไม่เห็นสิทธิของทางม้าลายเช่นกันเหมือนตอนที่เขาเคยเดิน เรื่องนี้ยังครอบคลุมไปถึงการออกแบบถนนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ขับขี่อีกด้วย

ส่วนการปลูกฝังเรื่องสิทธิแม้เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกตลอดไปแต่ก็ถูกขัดขวางโดยธรรมชาติเพราะมันเป็นอันตรายต่อสังคมลำดับชั้นในไทยซึ่งมีสิทธิไม่เท่ากันอยู่ วาทกรรมการเริ่มต้นจากความมีระเบียบวินัยในตนเองเป็นคำสวยหรูที่ใครก็พูดได้ง่ายๆ แต่ผมกลับคิดว่าการสอนเรื่องสิทธินั้นเข้าใจง่ายกว่าเพราะเราใช้ธรรมชาติของความเห็นแก่ตัวมาอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลกว่าครับ