Mamma Mia , Production ละครเพลงที่น่าทึ่ง ณ เมืองไทยรัชดาลัย

สามสาวใหญ่สามบุคลิกในเรื่อง ร้องเพลงเก่งทุกคน
สามสาวใหญ่สามบุคลิกในเรื่อง ร้องเพลงเก่งทุกคน

เมื่อวานนี้ได้ไปดู Mamma Mia ละครเพลงเวทีโดยคณะละคร Mamma Mia ( มามา มียา ) จากอังกฤษมาแสดงที่เมืองไทยรัชดาลัย เป็นละครเพลงที่สนุกแบบ Mass ให้รสชาติที่แตกต่างจากการดูเรื่องละครเพลงเรื่อง “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” หรือ ?Man of Lamancha? อันโด่งดังเมื่อปีก่อนจากการชวนของคุณจ๋งอยู่พอสมควรทีเดียวครับ

“สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” ผู้กำกับคือคุณยุทธนา มุกดาสนิท และคณะละคร 28 เมื่อปีก่อนสำหรับผู้ที่อยากรู้จักละครเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่แนะนำให้อ่านที่บล็อกนี้ ความเห็นคล้ายๆผมเลย

ในส่วนของ Mamma Mia นั้นจุดหลักของการทำละคนนี้คือการนำเพลง Dance ของวง ABBA มาเรียบเรียงเป็นละครได้น่าสนใจ ความสนุกนั้นเป็นแบบเข้าถึงได้ง่ายผ่านการเล่นของตัวละคร และเพลงของ ABBA ที่เล่นสดฟังแล้วสนุกจริงๆครับ ส่วนเรื่องบทนั้นก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่อยู่แล้วเนื่องจากต้องเขียนให้ Support เพลงน่ันเอง สำหรับคอมเม้นท์ละครเรื่องนี้ที่ดีมากนั้นแนะนำให้อ่านที่ กรุงเทพธุรกิจครับ ข้อความบางส่วนเช่น

“จะว่าไปอาจกล่าวได้ว่า Mamma Mia! ไม่ได้เป็นบทละครที่ดีด้วยตัวมันเอง หากตัดเพลง ABBA ออกไป บางที Mamma Mia! ก็ไม่ต่างจากซีรีส์เกาหลี ที่หาดูได้ทั่วไป และ Mamma Mia! ทำให้เรียนรู้อย่างหนึ่งว่า บทที่น่าประทับใจอาจไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งเดียวกับบทที่ดี ไม่จำเป็นต้องทำให้เรามองเห็นสัจธรรมอะไรยิ่งใหญ่ และละครพาฝันไร้สาระก็มีคุณค่าในแบบฉบับของตัวเองได้ แม้ว่าเราดูแล้วก็รู้อยู่แก่ใจว่าโลกของความเป็นจริงไม่ได้สวยงามน่ารื่นรมย์อย่างนั้น แต่บางที การได้หลีกหนีชั่วครั้งชั่วคราวไปกับท่วงทำนองของเรื่องราวและบทเพลง ก็ช่วยให้เรามองโลกและชีวิตให้น่าอยู่ ได้มากขึ้น ไม่ว่าจากทางไหนก็ตาม”

“ก่อนจะไปดูละครเรื่องนี้ เคยได้ยินมาว่า ตอนจบของละคร คนดูจะลุกขึ้นเต้นไปกับเพลง ตอนนั้น ยังรู้สึกว่า คนดูคงเต้นกันตามกระแสเพราะถ้าไม่ลุกขึ้นเต้น ก็เหมือนไม่ได้ดูละครเรื่องนี้ และยังมั่นใจกับตัวเองว่า เราไม่เต้นแน่ แต่เมื่อได้ดูจนจบจริงๆ กลับต้องกลืนน้ำลายตัวเองอย่างไม่รู้ตัว อารมณ์ความรู้สึกที่ละครสร้างให้กับคนดูสามารถเปลี่ยนคนดูให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของละคร กลายเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ต้องลุกขึ้นเต้นตามเพลง เพื่อร่วมแสดงความยินดีอย่างจริงใจในงานฉลองแต่งงาน” : ปริดา มโนมัยพิบูลย์

ในส่วนของการเชื่อมโยงของ Dialog การพูดเข้ากับเนื้อเพลงของ ABBA นั้นทำได้อย่างดีจนแทบไม่น่าเชื่อ เหมือนกับเพลง ABBA ได้ถูกแต่งมาเพื่อละครเรื่องนี้ทั้งที่มันไม่ใช่ ตัวละครร้องเพลงออกมาอย่างแนบเนียนราวกับบทพูดต่อกันซึ่งต่างจากละครเพลงเรื่องอื่นที่นำเพลงมาร้อยเรียงแล้วเรารู้สึกว่า ช่วงร้องก็คือร้อง ช่วงพูดก็คือพูดนั่นเอง

หนังเพลงของ Beatles จากการแนะนำของ @kijjaz เรือง across the universe ที่ใช้เพลงของ Beatles 33 เพลงยังไม่เนียนเท่านี้เพราะเนื้อเพลง Beatles นั้นหลุดไปไกล ไม่นับรวมอัลบั้มยำ track เก่าสุดเจ๋งได้รางวัลเพียบและเพิ่งออกมาในปี 2006 อย่าง Love (The Beatles album)

ในส่วนของละคร Mamma Mia นั้นก็มีคนวิจารณ์มามากแล้ว ผมขอเสนอในมุมมองของ Production

ผมเองเคยเล่นดนตรี Medley ชุด Mamma Mia มาแล้วถึงสามครั้งให้กับ ม.ร.ว.มาลินี จักรพันธุ์ (คุณหญิง หมัด ) ม.ร.ว.เบญจาภา ไกรฤกษ์ ( คุณหญิงน้อง ) และ คลาวเดีย จักรพันธุ์ ( มีครั้งหนึ่งเล่นหน้าพระพักตร์ของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ มาด้วย ) ส่วนที่เอามาโชว์เป็น Highlight ของ Bangkok Music Festival ที่ Emporium ครับ จากการเคยเล่นจึงทำให้ยิ่งสนุกกับการดูดนตรีและ Production ของ Mamma Mia มากขึ้น แอบเสียดายด้วยว่าถ้าผมได้มาดูโชว์คราวนี้ก่อน น่าจะเข้าใจดนตรีชุดนี้มากขึ้นและเล่นได้ดีขึ้นอีก

Mamma Mia เวอร์ชั่น youtube ที่ผมเลย ถ้าดูเรื่อยๆจะโดนตัดไปครับเพราะเมดเลย์ยาวถึง 17 นาที

อันนี้ Mamma Mia เวอร์ชั่นเต็ม 17 นาทีจาก facebook เสียงดีกว่าด้วย สำหรับคนเน็ทแรง

Mamma Mia ระบบเสียงและการบันทึก

ในส่วนของระบบเสียงนั้นใช้ลำโพงเรียงกันในลักษณะ Line Array ของเมืองไทยรัชดาลัยนั่นเอง ระบบเสียงแบบนี้ใช้ลำโพงหลายตัววางซ้อนกันให้จุดกำเนิดเสียงเป็นเส้นช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเข้มของเสียงทำให้ทั้งด้านหน้าและหลังได้ยินเสียงเท่าๆกันอยู่ จากการดูสองครั้งผมได้เห็นไมโครโฟนคอนเด็นเซอร์อยู่ตัวหนึ่งที่ด้านบนของเวที สูงจากพื้นมากๆ ไมค์ตัวนี้ใช้จับทั้งเสียงต่างๆที่เกิดบนเวทีและเสียงพูดเสียงร้องด้วยเช่นกัน
จากการพูดคุยกับ @Kijjaz กิจให้ความเห็นว่า เสียงของแต่ละคนที่พูดบนเวทีมีลักษณะไม่เหมือนกันอยู่ บางคนที่แต่งตัวมิดชิดอาจใช้ไมค์ wireless ซ่อนอยู่ก็เป็นได้ แต่ส่วนใหญ่จะต้องร้องเสียงดังให้ไมค์ด้านบนจับเสียงให้ได้ครับ ( ฉากที่กลุ่มผู้ชายใส่ชุดว่ายน้ำนั้นไม่สามารถติดไมค์ได้เลย ) ในส่วนที่ผมไม่แน่ใจจากการดูสองครั้งมีอยู่อย่างเดียวคือระบบลำโพงมอนิเตอร์ที่ทำให้ผู้แสดงกับนักร้องได้ยินนั้นไม่ชัวร์ว่าอยู่ตรงไหน ถ้าให้เดาจากทิศการวางไมค์ที่อยู่ด้านบนคาดว่าน่าจะอยู่ด้านข้าง ( side field ) โดยอาจซ่อนหลังม่านเพราะถ้าซ่อนใต้พื้นแล้วยิงขึ้นจะทำให้เกิดการ Feed back ( เสียงวีด ) จากไมค์คอนเด็นเซอร์ความไวสูงที่อยู่ด้านบน อย่างไรก็ตาม นี่เป็นสิ่งที่ผมต้องค้นหาต่อไปเกี่ยวกับเรื่อง Monitor (หลังจากค้นมาสองครั้งแล้ว) ว่าแต่สมัยโบราณเค้าแสดงละครกันอย่างไม่มีไมค์และระบบเสียงกันเลย ไม่น่าเชื่อนะครับ

ตำแหน่งยืนของ Conducter อยู่หน้าเวทีที่มีคีย์บอร์ดและจอมอนิเตอร์ดังรูป พร้อมวงดนตรีอยู่ข้างใต้
ตำแหน่งยืนของ Conducter อยู่หน้าเวทีที่มีคีย์บอร์ดและจอมอนิเตอร์ดังรูป พร้อมวงดนตรีอยู่ข้างใต้ ถ่ายจาก iPhone

Mamma Mia :บทบาทของผู้อำนวยเพลงและนักดนตรี

ในเรื่องของผู้อำนวยเพลง ( Conductor ) นั้นเจ๋งเลยทีเดียวครับ บริเวณที่ยืนเป็นด้านหน้าข้างล่างเวทีที่เค้าสามารถเห็นได้ทั้งวงดนตรีที่ซ่อนอยู่ใต้เวทีและนักแสดงบนเวที เค้าใช้คีย์บอร์ดและเล่นเปียโนไปด้วย ซึ่งนักแสดงที่อยู่ด้านบนก็ต้องเหลือบมองผู้อำนวยเพลงเพื่อให้แสดงได้พอดีกับจังหวะเพลงเช่นกัน (เช่นการกระโดด การเต้น) ส่วนนักดนตรีก็ต้องมองอยู่แล้วเพราะไม่เห็นนักแสดงที่อยู่บนหัวตัวเอง ที่ตำแหน่งยืนของผู้อำนวยเพลงยังมีจอภาพแสดงภาพนักดนตรีด้านใต้โชว์อยู่ด้วยและมีกล้องส่องมือกลองโดยเฉพาะอีกด้วย เนื่องจากกลองเป็นเครื่องดนตรีที่มีเสียงดังและอาจล้นรบกวนขึ้นมาถึงด้านบนจึงต้องทำห้องพิเศษให้กลองอยู่คนเดียวโดยเฉพาะครับและกลองก็ต้องมีกล้องคอยมองผู้อำนวยเพลงเช่นกัน สำหรับนักดนตรีก็มีครบทั้งเครื่องเป่าและวงสตริง ผมสามารถมองเห็นผู้หญิงเป็นคนเล่นเปียโนไฟฟ้า RD700 ด้านล่างได้เล็กน้อยครับ ส่วนคอนดักเตอร์เมื่อเวลาที่เค้าเล่นเปียโนในเพลงสำคัญหรือเล่นพร้อมกับมองเวทีไปด้วยจะเปลี่ยนจากใช้มือคอนดัก มาเป็นใช้หัวของตัวเองโยกไปมาแทน นับเป็น Solution การเล่นละครเพลงของนักดนตรีที่เยี่ยมจริงๆ ( การแสดงละครให้ลื่นไหลคิวแน่นเปีะพร้อมซาวส์ effect นั้นไม่สามารถอัดเสียงเตรียมไว้ได้ครับ )

Mamma Mia กับบทสรุปด้าน Production ดนตรี

ด้านเสียงที่ได้ยินนั้นสำหรับผมเนื่องจากไมโครโฟนอยู่สูงและไกลมาก เสียงร้องระดับนี้ถือว่าดีเกินคาดครับ แต่ @kijjaz ซึ่งมีพี่สาวเคยไปดูโชว์นี้ที่ต่างประเทศมาแล้วยังบอกว่ามันไม่ค่อยชัดมาก เสียงดนตรีออกมาให้ความสนุกแต่ไม่ได้กระหึ่มอิ่มไดนามิกเยอะแบบการดูคอนเสิร์ต เข้าใจว่าผู้จัดเห็นว่าคนมาดูส่วนใหญ่อายุมากและเป็นคนชั้นกลางถึงสูงจึงไม่ได้อยากให้เสียงกระหึ่มเร้าใจเกินไปนัก บางช่วงเสียงดนตรีเฟดอย่างรวดเร็วเพื่อเปิดทางให้เสียงร้องแบบกระซิบกระตุ้นอารมณ์ แต่ไม่ใช่เป็นการเล่นเฟดทั้งหมด เหมือนเป็นการเฟดจาก Mixer โดยผู้อำนวยวงมากกว่าเพราะไดนามิคเสียงไม่มี พี่สาวของ @kijjaz เล่าให้ฟังว่าที่เมืองนอกดนตรีจะกระหึ่มจนคนลุกขึ้นเต้นไปตามเพลงแทบจะทุกเพลงเลยครับ ส่วนตัวผมเนื่องจากเป็นคนดนตรีก็เลยอยากดูวงดนตรีให้ชัดกว่านี้ก็คงจะดีเสียดายนิดนึง อย่างไรก็ตามหลายๆเพลงก็มีคนลุกขึ้นมาเต้นโดยเฉพาะตอนใกล้ๆจบครับ ผมคิดว่าระดับนี้ดีมากแล้วเพราะถ้าเสียงดังมากคงย้อนเข้าไมค์คอนเดนเซอร์ที่อยู่ด้านบนเสีงตีกันยุ่งแน่

โดยสรุปคือ ดีใจที่ได้ไปดูครับ !