ความไร้ประสิทธิภาพ กับ การโกงกิน

การ์ตูนล้อการเมือง อนุญาติให้เผยแพร่ซะด้วย จาก  www.blackcommentator.com
การ์ตูนล้อการเมือง อนุญาติให้เผยแพร่ซะด้วย จาก www.blackcommentator.com

เมื่อวันก่อนหลังลองทิ้งคำถามลงไปในทวิตเตอร์เล็กน้อยเกี่ยวกับประเด็นด้านราชการ แต่ผมทิ้งประเด็นแรกไปก่อนที่ว่า “คนไทยไม่ต้องการคนโกงกินจริงหรือ?” เพื่อต้องการดู perception เกี่ยวกับโกงกินเป็นอันดับแรก และก็พบว่า คนส่วนใหญ่เกลียดการโกงกินอย่างมาก และมีความรู้สึกว่านักการเมืองนั้นโกงกินกันแทบทุกคน สาเหตุนอกเหนือจากการโกงที่อาจมีอยู่จริงแล้ว ยังมีที่มาจากเมืองไทยมีวาทกรรมว่าด้วยการโกงกินของนักการเมืองอยู่เต็มไปหมดนั่นเอง

ต่อมาผมก็ลองหย่อนประเด็นเรื่อง “การไร้ประสิทธิภาพ” เข้าไปด้วย เพราะหน่วยงานราชการบางแห่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถทำงานได้ หรือไม่ต้องการทำงานนั้นก็กำลังใช้เงินภาษีของประชาชนอยู่อย่างขมักเขม้นเช่นกัน และหย่อนคำถามที่ว่า การโกงกิน = การไร้ประสิทธิภาพ หรือไม่ ? เข้าไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตอบดู ( จริงๆไม่ make sense ที่จะใช้เครื่องหมาย”เท่ากับ” ในลักษณะนี้แต่ผมอยากลองครับ ) เพราะผมคิดว่า พอเป็นเรื่อง “ความไร้ประสิทธิภาพ”นั้นทำไมคนไทยกลับรับได้ ? ทั้งที่ความ “ไร้ประสิทธิภาพ” ที่เราเป็นเป็นเรื่องปกติกับการ “โกงกิน”ที่เป็นเห็นเป็นเรื่องชั่วร้ายนั้นกลับให้ผลไม่ต่างกันเลยนั่นคือประชาชนไม่ได้อะไร และเสียภาษีไปฟรีๆนั่นเอง

คุณจ๋ง @warong คิดว่าที่ผ่านมา การโกง ถูกเน้นย้ำกันมามากแล้ว แต่การไร้ประสิทธิภาพ นั้นกลับถูกทำราวกับเป็นเรื่องปรกติธรรมดาจนชาชินที่ทุกๆ คนควรจะหาทางช่วยเหลือตัวเองเอาเอง และได้เพิ่มเติมว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว การต่อว่านักการเมืองมักจะเป็นในแนวที่เกี่ยวกับแนวคิดที่ไม่ตรงกันมากกว่า ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนานั้นเต็มไปด้วยคนที่ต่อว่าว่านักการเมืองโกงกินเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ง่ายที่สุดและเข้ากับจริตของคนที่ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร

และปรากฏว่าคุณลิ่ว @lewcpe ได้ตอบกลับในประเด็นที่น่าสนใจทีเดียวครับ เช่น

เราสามารถหาคนผิดให้กับความไร้ประสิทธิภาพได้ “ไอ้ระบบ” นี่รับบาปมาหลายสิบปีแล้ว ส่วนโกงกินนี่ คนทำดันมีชื่อและเดินได้

สักวันเราจะมี “ไอ้การเมือง” มารับบาปโกงกิน เหมือน “ไอ้ระบบ” มารับบาปด้อยประสิทธิภาพ

คิดว่าเดี๋ยวมันก็จะน่ากลัวพอๆ กัน ตอนนี้เรามีทุจริตเชิงนโยบาย อีกหน่อยเราจะเริ่มกลัวการโกงจนเริ่มอธิบายไม่ได้

สิ่งที่ผมสรุปได้ตามความรู้สึกส่วนตัวก็คือ ความไร้ประสิทธิภาพนั้นกลับเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าเพราะมันไม่มีจำเลยที่สามารถจับเข้าคุกได้นั่นเอง ทุกคนโทษระบบราชการที่ไร้แรงจูงใจ แต่กลับ”พอรับได้” และเห็นว่า”ไม่ใช่ความผิดบาปที่ต้องเร่งแก้ไข” และเราก็ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทุกรูปแบบ ต่อต้านการแปรรูปทุกรูปแบบ ตามประสาคนไทยที่มีความลักลั่นย้อนแย้งโดยตลอด

ในขณะที่นักการเมืองทุกคนถูกตราหน้าไว้แล้วว่าการกระทำทุกอย่าง มีแนวโน้มที่จะสามารถโกงกินได้ แน่นอนผมเองก็ไม่ชอบการโกงกินและก็ไม่ได้อยากให้ทุกคนรู้สึกกว่าสิ่งนี้”มันรับได้” เพียงแต่รู้สึกว่าประเด็นที่กัดกินไม่แพ้กันอย่างเรื่องการไร้ประสิทธิภาพนั้นก็ควรจะให้ความสำคัญและพยายามจัดการเรื่องนี้ให้ได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามคุณจ๋งได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ถ้าความไร้ประสิทธิภาพเกิดจากความอ่อนด้อยของความสามารถนั้น เราก็ยังพออภัยกันได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่อันตรายที่สุดเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพที่มาจาก การปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวต่างหาก

ผมคิดว่าในวงการเมืองที่มีแต่ผู้ต้องการจ้องเล่นงานกันนั้น การปัดความรับผิดชอบเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก เพราะคนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานจริงๆจังๆ สุภาษิตอย่างเช่น “แกว่งเท้าหาเสี้ยน” นั้นก็ติดอยู่ในสมองของเราตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเราจะไม่มีทางสู้เพื่อความถูกต้องหากตนเองและครอบครัวต้องเดือดร้อนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีการตั้งหน่วยงานที่ไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพองค์รวมอยู่เยอะมาก

ลักษณะราชการไทยนั้นเมื่อมีผู้บริหารใหม่ ก็จะเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ เกิดองค์กรใหม่ องค์กรเดิมเมื่อผ่านมาระยะเวลาหนึ่งจะสะสมการเมืองภายในไว้เยอะมาก เมื่อไม่สามารถแตะต้องได้ก็ต้องปล่อยให้ใช้เงินภาษีต่อไปชั่วฟ้าดินสลายนั่นเองครับ ลองคิดว่าเรามีองค์กรราชการรวมไปถึงระดับชุมชนอยู่หลายหมื่นองค์กร หน่วยงานที่ลงท้ายว่า“แห่งชาติ” และสำนักงานนั้นก็มีมากมายแม้บางทีชื่อจะใกล้เคียงกันจนเราแทบจะแยกกันไม่ออก ผมลองสมมติคร่าวๆดูว่าถ้า Government Efficiency แบบดีที่สุด = 50% แล้วความสูญเสียมันควรจะเยอะเป็นหลักแสนล้านแบบที่ผู้เสียภาษีเห็นแล้วต้องน้ำตาซึมแน่ๆครับ

ลองสร้างวาทกรรมว่าด้วยการไร้ประสิทธิภาพกันบ้าง เพลาๆวาทกรรมนักการเมืองเลวลงบ้างก็ได้ครับ ส่วนผมขอเวลาไปศึกษาระบบราชการประเทศอื่นๆก่อน แล้วจะมีโพสเสวนากันอีกครั้งนะครับ 🙂

มีรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งสร้างหน่วยงานหนึ่งขึ้นมา ต้องใช้คน 300 คนในการ maintenance แต่ต่อมาไม่นานหน่วยงานนั้นหมดประโยชน์ลงเพราะมีข้อขัดข้องทางกฎหมายจากการไม่ศึกษาให้ดีถึงการตั้งหน่วยงาน ด้วยความที่ต้องการรักษาน้ำใจภายในองค์กรจึงตัดสินใจเลี้ยงคน 300 คนไปจนเกษียณโดยไม่ต้องทำงานอะไรที่เป็นฟังก์ชั่น คุณคิดว่าอย่างไรครับ ? และคุณรู้ไหมว่ามีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาและตกอยู่ในสภาพนี้อีกมากมายเช่นกัน

สิ่งที่น่าสนใจ

Government Efficiency, Global Rankings, 2009
ระบบราชการของสิงค์โปร์
การเมืองของ นิวซีแลนด์ ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายๆเรา
บทความ
อำลาอาลัย…รัฐวิสาหกิจยอดแย่