บริษัทเล็กดีอย่างไร ตอนที่ 1 : ประสิทธิภาพ

ก่อนจะถึงเรื่องของบริษัทขนาดเล็กน่าจะรู้เกี่ยวกับบริษัทสักหน่อยครับ บริษัทคือ องค์การธุรกิจ ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้นการรวมตัวกันของบุคคลหรืออื่นๆและทำกิจกรรมเพื่อแสวงหาผลกำไร (ถ้าไม่หากำไรก็จะเรียกมูลนิธิหรือองค์การการกุศล) เด็กจบใหม่หลายคนนั้นอยากตั้งบริษัทโดยที่ไม่รู้ว่าว่าการตั้งบริษัทนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง ข้อดีก็คือบริษัทนั้นมีความรับผิดชอบงานภายใต้ทุนจดทะเบียนทำให้ลูกค้ามีความไว้วางใจได้มากกว่า ในขณะที่ข้อเสียคือ การเป็นบริษัทต้องเสียต้นทุนในการ Manage และรายงานผลประกอบการเพื่อเสียภาษีเยอะมากนั่นเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากทีเดียวครับ !

ในชีวิตการเรียนทัั้งระดับ ป.ตรี และ MBA ถ้าใครสังเกตก็จะพบว่าหลักสูตรบริหารธุรกิจนั้นไม่มีหลักการสำหรับบริษัทขนาดเล็ก ทุกอันเหมาะกับบริษัทขนาดกลางและใหญ่ทั้งสิ้น บางครั้งมีการเปรียบเทียบอีกว่าบริษัทแบบเจ้าสัวนั้นมีข้อเสียอย่างนั้นอย่างนี้เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่อีกด้วย ทำให้ทุกคนต่างคิดว่าบริษัทขนาดใหญ่นั้นดีกว่าในทุกๆด้าน

แม้แต่ flowchart MBA ที่สอนเรื่อง small business ดูแล้วก็ยังทำมาสำหรับบริษัทใหญ่
แม้แต่ flowchart MBA ที่สอนเรื่อง small business ดูแล้วก็ยังทำมาสำหรับบริษัทใหญ่

มีคนถามหลายคนว่าบริษัทไทเกอร์ไอเดียเล็กลงจากที่แต่ก่อนมีถึง 22 คน ปัจจุบันเหลือ 5 คน แสดงว่าบริษัทน่าจะแย่ลงใช่หรือไม่ ? ผมกลับเห็นว่านี่คือจุดแข็งครับ

ในครั้งแรกที่เราตั้งบริษัทกันขึ้นมา #mindset ของผู้ถือหุ้นของเรานั้นคือ บริษัทจะยิ่งใหญ่ได้จะต้องขยายอาณาจักร ทำให้เวลาเรามีงานเข้ามาก็จะมองหาคนที่มีความสามารถมาทำงานทำให้องค์กรใหญ่ขึ้นเรื่อยๆเพราะงานงานแต่ละงานก็ต้องการสกิลใหม่ๆอยู่บ้างครับ แต่ในที่สุดความใหญ่ก็ทำร้ายเราจนได้

จุดแข็งของบริษัทเล็กในทาง ประสิทธิภาพ

หน่วยประสิทธิภาพสูงและประหยัดต้นทุนการบริหารประสิทธิภาพแต่ละหน่วยงาน

บริษัทยิ่งมีขนาดใหญ่มาก จะทำให้มีคนที่สามารถซ่อนตัวอยู่โดยไม่ทำงานได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกันบริษัทขนาดเล็กทุกคนต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลองคิดว่าบริษัทขนาดเล็กที่มีเพียง 1 คนต่อหนึ่ง Function เช่น admin, Design, sale ,Programmer เราจะรู้ได้ทันทีครับว่าใครกำลังไม่ทำงานอยู่หรือใครด้อยประสิทธิภาพเพราะจะส่งผลกระทบต่อทุกๆคนทันทีและบริษัทก็อาจจะเจ๊งได้ ทุกคนในแต่ละฟังก์ชั่นจึงต้องตื่นตัว แต่หากฟังก์ชั่นหนึ่งมีคนทำงานอยู่เพิ่มเป็น 5 คน (เช่น Graphic design) คราวนี้เราจะไม่รู้แล้วว่า ปัญหางานหรือคอขวดนั้นมาจากใครบ้าง ทำให้จำเป็นต้องใช้ระบบรายงานหรือจับผิดเข้ามา ส่งผลให้คนเกิดความไม่พอใจกันครับ

ประหยัดระยะเวลาในการตัดสินใจ

บริษัทยิ่งมีขนาดใหญ่เวลาตัดสินใจยิ่งต้องส่งเรื่องหลายระดับเพราะกระทบคนหมู่มาก ถ้าลองเปรียบกับราชการ การซื้อคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องอย่างถูกต้องตามขั้นตอนอาจใช้เวลาหลายเดือน ถ้าเป็นบริษัทขนาดใหญ่อาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กอาจใช้เวลาแค่วันเดียวครับ การซื้อคอมพิวเตอร์ในบริษัทใหญ่จะต้องตัดสินใจร่วมกันระหว่างฝ่าย IT ฝ่ายที่จะใช้งาน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายการเงิน และอาจจะมีฝ่ายบุคคลด้วยเช่นกัน

ความได้เปรียบด้านความชัดเจน/ความสามารถในการสื่อสาร

การประชุมในบริษัทขนาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องยุ่งยากวุ่นวายต้องจองนู่นจองนี่เหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่บริษัทขนาดเล็กนั้นแค่อยู่กันพร้อมหน้าในเวลาทำงาน เพียงหมุนเก้าอี้มาคุยกันก็สามารถสื่อสารได้ความตรงกันแล้ว ใครที่ไม่เข้าใจก็มีความกล้าที่จะถามได้ในทันทีอีกด้วย

ในครั้งต่อๆไปจะทยอยพูดถึง ต้นทุนการบริหารการเมือง/ทัศนคติลูกจ้าง ความกว้างของตลาดและการเลือกลูกค้าที่ดีได้ ความคล่องตัวในการปรับตัว แรงกดดันทางเทคโนโลยี และประโยชน์ของผู้บริหารครับ ปิดท้ายด้วยแนวคิดผู้ประกอบการอย่าง “เหนือกว่าบริษัทคือการไม่มีบริษัทนั่นเอง”

ตอนต่อ :
บริษัทเล็กดีอย่างไร ตอนที่ 2: Social Media มีพลังกับธุรกิจขนาดเล็ก