ของรัฐบาลหรือของส่วนตัว ? จับตาดู account @PM_Abhisit

บล็อกนี้เขียนร่วมกับ @warong ครับ โดยครั้งแรกว่าจะลง SIU แต่ด้วยมาตรฐานอันสูงส่งของ @Markpeak ที่ต้องให้ผมไปหา reference เพิ่มเติม ” ทั้งโลก ” อนิจจาอาทิตย์นี้ดันยุ่งมากพอดีเลยขอลงบล็อกตัวเองไปก่อนเลยละกันครับ >_<

เมื่อวันก่อน ผมเห็นทวิตเตอร์แอคเคาท์ของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (@PM_Abhisit) รีทวิตข้อความจำนวนหนึ่งจากแอคเคาท์พรรคประชาธิปัตย์ (@democratTH) ข้อความเหล่านั้นมีเนื้อหาประชาสัมพันธ์นโยบายพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งยังพาดพิงไปถึงพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม (พรรคเพื่อไทย) ในเชิงเปรียบเทียบด้วย

@PM_Abhisit retweet @DemocratTH เป็นชุด
@PM_Abhisit retweet @DemocratTH เป็นชุด

ทวิตเนื้อหาลักษณะนี้ของแอคเคาท์ @PM_Abhisit อาจจะดูแปลกไปบ้าง หากเปรียบเทียบกับแนวทางการทวิตที่ผ่านมา ซึ่งมักจะเป็นการประชาสัมพันธ์การทำงานของคุณอภิสิทธิ์ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า ถ้าคิดด้วยอคติส่วนตัวต้องบอกว่านี่ก็ใกล้ช่วงหาเสียงอยู่มากครับ

คนที่ติดตามทวิตเตอร์ของ @PM_Abhisit มาตลอดคงจำกันได้ว่าช่วงเริ่มแรกนั้น ทวิตเตอร์แอคเคาท์นี้มีปัญหาเรื่องความชัดเจนว่าเป็นทวิตเตอร์ของคุณอภิสิทธิ์จริงหรือไม่? คุณอภิสิทธิ์ทวิตเองหรือเปล่า? ซึ่งความคลุมเครือนี้ก็ไม่ได้ถูกทำให้ชัดเจนขึ้นมา จนกระทั่งเกิดปัญหากรณีที่แอคเคาท์ @PM_Abhisit ได้ทวิตอวยพรวันเกิดและสนทนากับแอคเคาท์ของคุณทักษิณ ชินวัตร (@ThaksinLive) จนเกิดคำถามตามมาจากคนจำนวนมากว่าทวิตที่ร่วมสนทนากันเหล่านี้ คุณอภิสิทธิ์เป็นคนทวิตจริงหรือไม่?

status http://twitter.com/#!/pm_abhisit/status/2848336914 ของคุณอภิสิทธิ์
status http://twitter.com/#!/pm_abhisit/status/2848336914 ของคุณอภิสิทธิ์

อภิสิทธิ์ปัดส่งข้อความถึง”ทักษิณ”เตะบอลกระชับมิตรทูต : คมชัดลึก

จนกลายเป็นกระแสความสนใจในวงกว้าง สื่อมวลชนกระแสหลักนำเสนอเรีื่องราว และได้ข้อสรุปออกมาว่่าทวิตต่างๆ ของแอคคาท์ @PM_Abhisit นั้นเป็นฝีมืออาสาสมัครอิสระช่วยทวิตให้ ไม่ใช่คุณอภิสิทธิ์ทวิตเอง แต่คุณอภิสิทธิ์รับรู้รับทราบการนำเสนอข้อมูลของตัวเองผ่านแอคเคาท์ @PM_Abhisit มานานพอสมควรแล้ว

ปชป.รับทีมงานอภิสิทธิ์โพสต์ทวิตเตอร์ถึงทักษิณ : คมชัดลึก

หลังจากนั้น คุณสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ก็ได้แถลงข่าวว่าตัดสินใจใช้ @PM_Abhisit เป็นแอคเคาท์ทางการของคุณอภิสิทธิ์ต่อไป

บทบาทตัวบุคคลกับการทำงานในตำแหน่งหน้าที่

โดยปกติแล้วการทำงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ในระดับการเมืองหรือที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ จะต้องมีการแยกแยะให้ชัดเจนเรื่องบทบาทสถานะของบุคคลผู้นั้น เช่นคุณอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ สวมทั้งบทบาทคุณอภิสิทธิ์ที่เป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง และบทบาทคุณอภิสิทธิ์ที่ดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อคุณอภิสิทธิ์สวมบทบาทเป็นประชาชนคนหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้ดังเช่นคนปรกติทั่วๆ ไป เช่นการสนทนาพูดคุยเล่นหัวกับผู้อื่น หรือการหาประโยชน์ส่วนตัวหรือพรรคพวก ดังเช่นการโฆษณาหาเสียงให้พรรคประชาธิปัตย์ที่คุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้านั้นย่อมไม่เป็นปัญหาอันใด แต่เพราะคุณอภิสิทธิ์ยังมีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย เมื่อคุณอภิสิทธิ์สวมบทบาทนี้ หรือใช้ทรัพยากรในฐานะนายกรัฐมนตรี (อันหมายถึงเป็นของสาธารณะ) จำเป็นต้องระมัดระวังและเคร่งครัดที่จะไม่ใช้เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ของคุณอภิสิทธิ์เองหรือพรรคการเมืองที่คุณอภิสิทธิ์สังกัด

ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจก็คือ: แอคเคาท์ @PM_Abhisit นั้นเป็น แอคเคาท์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย หรือ แอคเคาท์ส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ เอง ซึ่งทั้งสองแบบนี้ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งในบทบาทและการบริหารจัดการ

เมื่อลองดูในหน้าโพรไฟล์ของแอคเคาท์ @PM_Abhisit เราจะพบคำอธิบายที่ดูกำกวมสักนิด เพราะคำอธิบายบอกว่า นี่เป็นแอคเคาท์ ทางการของนายกรัฐมนตรีของไทย

ใน Profile เขียนไว้ว่าเป็น account ของ นายกรัฐมนตรีของไทย
ใน Profile เขียนไว้ว่าเป็น account ของ นายกรัฐมนตรีของไทย

เมื่อลองเปรียบเทียบกับแอคเคาท์ของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นความแตกต่างเรื่องความชัดเจนได้ดีขึ้น เพราะแอคเคาท์ของโอบามาบอกไว้ชัดว่าเป็นของ ประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา

การให้รายละเอียดในแง่ลำดับ (คนที่ 44) ช่วยให้เกิดความชัดเจนว่านี่ไม่ใช่แอคเคาท์ประจำตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และง่ายต่อการรับรู้ว่าแอคเคาท์นี้เป็นแอคเคาท์ส่วนตัวของโอบามา (ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกาอยู่)

account ของโอบามาบอกว่าเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา
account ของโอบามาบอกว่าเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐอเมริกา

ของรัฐบาลหรือของส่วนตัว?

ความไม่ชัดเจนในบทบาทของแอคเคาท์ @PM_Abhisit ข้างต้นที่ยกตัวอย้างมายังถูกขับเน้นความไม่ชัดยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อลองดูในเว็บไซต์ทางการประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (http://www.pm.go.th) บริเวณด้านขวาล่างในกรอบด้านล่างที่ชื่อ ติดตามเรา มีการให้ข้อมูลว่า

ติดตามความเคลื่อนไหวของนายกรัฐมนตรีได้ทางทวิตเตอร์ได้ที่ @PM_abhisit

เว็บไซต์ pm.go.th ดำเนินการโดยสำนักนายกฯ มีการลิงก์มาที่ @PM_Abhisit
เว็บไซต์ pm.go.th ดำเนินการโดยสำนักนายกฯ มีการลิงก์มาที่ @PM_Abhisit

การที่เว็บลงท้ายด้วย .go.th สร้างความชัดเจนว่าเป็นเว็บไซต์ของทางราชการ ( และใช้เงินภาษีของประชาชนในการสร้าง ) การแสดงข้อความว่า ติดตามความเคลื่อนไหวของ นายกรัฐมนตรี แล้วลิ้งก์มาที่ทวิตเตอร์ @PM_Abhisit ย่อมโน้มนำให้คนเข้าชมเข้าใจว่าแอคเคาท์ @PM_Abhisit เป็นทวิตเตอร์แอคเคาท์ทางการประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

หากแอคเคาท์ @PM_Abhisit ไม่ใช่แอคเคาท์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เป็นแอคเคาท์ส่วนตัวคุณอภิสิทธิ์เอง การประชาสัมพันธ์เช่นนี้มีปัญหาคือ

  • อาจเป็นการใช้พื้นที่สาธารนะเพื่อประโยชน์ส่วนตัวคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หรือพรรคการเมืองที่คุณอภิสิทธิ์สังกัดอยู่)

ในเมื่อตอนนี้ แอคเคาท์ @PM_Abhisit ได้ทวิตเนื้อหาประชาสัมพันธ์พรรคประชาธิปัตย์และเริ่มพาดพิงถึงพรรคการเมืองอื่นแล้ว ผู้รับผิดชอบเว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ และคุณอภิสิทธิ์เอง ควรอธิบายความคลุมเครือนี้ต่อสาธารณชนเช่นกัน

เปรียบเทียบกับเว็บทำเนียบขาว

เราลองมาเปรียบเทียบกรณีนี้กับเว็บไซต์ทำเนียบขาว (http://whitehouse.gov) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สำนักนายกรัฐมนตรีใช้อ้างอิงเป็นแนวทางตั้งแต่ครั้งสร้างเว็บช่วยชาติ http://chuaichart.com (ซึ่งขณะนี้ได้ปิดให้บริการไปแล้ว) ดูบ้าง เนื่องจากเว็บ whitehouse.gov เป็นเว็บทางการในการทำงานของทีมงานและตัวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา น่าจะพอเทียบได้กับเว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบ้านเรา

เว็บ whitehouse มี Social Media ที่ไม่ได้ลิงก์ไปยัง Obama และพรรคของเขาเลย
เว็บ whitehouse มี Social Media ที่ไม่ได้ลิงก์ไปยัง Obama และพรรคของเขาเลย

อย่างแรกสุด เราจะเห็นได้ว่า ในหน้ารายละเอียดของ ประธานาธิบดีโอบาม่า ไม่มี การล้ิงก์ไปยัง Social Media ส่วนตัวของโอบามาแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องในฐานะประธานาธิบดีเท่านั้น

ส่วนทวิตเตอร์แอคเคาท์ที่ปรากฏในเว็บไซต์ทำเนียบขาวลงไว้ ก็คือ @whitehouse ซึ่งชัดเจนในแง่บทบาทมาก

นอกจากนั้น เว็บไซต์ทำเนียบขาวยังมีพื้นที่สำหรับให้ข้อมูล ความรู้เกี่ยวกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและการบริหารจัดการ นอกจากนั้นมีหน้าแสดง ทำเนียบประธานาธิบดีทุกคนในอดีต ไม่จำกัดว่าในขณะนั้นผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมาจากพรรคการเมืองใด

เว็บไซต์ whitehouse.gov มีหน้าแสดงทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในอดีต
เว็บไซต์ whitehouse.gov มีหน้าแสดงทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในอดีต

หากลองเปรียบเทียบกับเว็บไซต์นายกรัฐมนตรี เราจะเห็นได้ไม่ยากว่าข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ เกือบทั้งหมดอิงอยู่กับตัวคุณอภิสิทธิ์ โดยไม่มีที่สำหรับความรู้อื่นๆของนายกรัฐมนตรีในอดีต แต่อย่างไรก็ตาม อาจไม่มีนโยบายในการพัฒนาหรือไม่มีเวลาเพียงพอก็เป็นได้

นอกจากนั้น เราจะพบข้อเปรียบเทียบที่น่าสนใจ คือโอบามาเองก็มีเว็บไซต์ส่วนตัวของเขา (http://www.barackobama.com) และในขณะนี้ก็ดูจะเตรียมพร้อมรับแคมเปญเลือกตั้งของเขาแล้ว เว็บไซต์ส่วนตัวของโอบามาได้รับการออกแบบด้วยดีไซน์รับกับยุคสมัย ดูสวยงามและได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดี ไม่แพ้เว็บทำเนียบขาว

ในขณะที่คุณอภิสิทธิ์เองก็มีเว็บไซต์ส่วนตัวเช่นเดียวกัน (http://abhisit.org) แต่เพียงเข้าไปดู เราก็จะเห็นได้ว่าความเอาใจใส่ต่อการพัฒนาและการบริหารนั้นต่างจากเว็บประจำตำแหน่งนายกอย่างมาก ( เช่นการพบจุดบกพร่องประเภทแสดงผลด้วยแบบตัวอักษรที่อ่านไม่ออก ที่หน้าแรก )

เว็บไซต์ส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ด้อยความเอาใจใส่อย่างเห็นได้ชัด
เว็บไซต์ส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ด้อยความเอาใจใส่อย่างเห็นได้ชัด

น่าเสียดายที่เว็บไซต์ที่ชัดเจนในบทบาทว่าเป็นเว็บไซต์ส่วนตัวของคุณอภิสิทธิ์ ที่ผู้ชื่นชมและแฟนๆ คุณอภิสิทธิ์น่าจะเข้ามารับข้อมูลเกี่ยวกับคุณอภิสิทธิได้อย่างเปิดกว้างมาก และแทบไม่มีข้อจำกัด กลับไม่ไ่ด้รับการเหลียวแลหรือประชาสัมพันธ์จากทีมงานคุณอภิสิทธิ์เท่าที่ควร

สาเหตที่ผู้เขียนเปรียบเทียบกับโอบาม่าเพราะเมื่อครั้งแรกที่ทางทีมงานได้รับงานเว็บช่วยชาติ.com ทีมงานได้รับโจทย์จากคุณกอร์ปศักดิ์ว่าให้ยึดรูปแบบคล้ายเว็บ whitehouse.gov ซึ่งหลังจากเว็บช่วยชาติเปิดตัว ทั้งเว็บ factreport.go.th และ pm.go.th นั้นก็ได้ใช้รูปแบบการออกแบบที่คล้ายกันเช่นกัน และมีแนวคิดที่คล้ายกันพอสมควรครับ

บทสรุป: พื้นที่ออนไลน์และความชัดเจนเรื่องตำแหน่งบทบาท

ทรัพยากรในโลกออนไลน์ในฐานะสมบัติสาธารณะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่ และคงเช่นเดียวกับบรรดาสิ่งเกิดใหม่่ทั้งหลายที่อาจจะยังไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ดังเช่นทรัพยากรกายภาพในแบบที่เราคุ้นเคย

หากลองสำรวจตัวอย่างอื่นๆ ให้กว้างไปจากเดิม ในเว็บของกระทรวงการคลัง เราจะพบส่วนประชาสัมพันธ์ Social media ไปยังแอคเคาท์ @PM_abhisit , เว็บไซต์ส่วนตัวของคุณกรณ์ และพรรคประชาธิปปัตย์ด้วย

ในหน้าเว็บไซต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เรายังได้พบคลิปวีดีโอ ใครคนนั้น อันเป็นมิวสิควีดีโอประชาสัมพันธ์คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะปรากฏอยู่ คลิปวีดีโอนี้ออกมาในช่วงกำลังจะเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้ง ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ตัวคลิปโฆษณาคุณอภิสิทธิืในช่วงท้าย ให้ข้อมูลแว่บหนึ่งว่าเป็นงานของสำนักนายกรัฐมนตรี อันน่าจะมาจากงบประมาณสาธารณะ ภาษีประชาชน ซึ่งควรจะใช้งานได้ในระยะเวลาพอควร โดยไม่่ผูกติดอยู่เพียงตัวคุณอภิสิทธิ์เท่านั้น

แต่คลิปวีดีโอนี้ออกมาในช่วงคุณอภิสิทธิ์กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง นั่นหมายถึงอายุใช้งานอาจจะสั้นนิดเดียวก็เป็นได้

ความพยายามแยกให้ชัดเจนระหว่างสมบัติสาธารณะกับสมบัติส่วนบุคคลเป็นหลักการหนึ่งที่เป็นพื้นฐานของความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ อันนำไปสู่เส้นทางของการต่อต้านคอร์รัปชัน ในยุคสมัยที่คนไทยกำลังตื่นตัวและให้ความสนใจกับประเด็นคอร์รัปชัน พื้นที่ใหม่อย่างโลกออนไลน์ของไทยยังปราศจากความชัดเจนที่ว่านี้ สมควรที่สาธารณะชนผู้ประกาศตัวว่ารังเกียจการคอร์รัปชันและการเอารัดเอาเปรียบ ควรให้ความสนใจประเด็นนี้ในระดับที่เหมาะสมของแต่ละท่านต่อไป โดยไม่ตั้งแง่ว่าผู้ใดกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่

Account @PM_Abhisit จะเป็นอย่างไรต่อไป ทางเลือกจะอยู่ในกลุ่มนี้ครับ

  1. ถ้า account นี้เป็นของรัฐบาล รัฐควรเก็บ account ไว้ใช้กับนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เช่นเปลี่ยนเป็น PM_XXXX โดยมีจำนวน follower คงเดิม
  2. รัฐบาลใหม่สร้าง Account twitter ใหม่ โดยมักจะผูกกับชื่อนายกหรือทำให้เป็นคนๆไปอย่าง Obama ( มีความเป็นไปได้สูง )
  3. คุณอภิสิทธิ์ถือเอา account นี้ไปใช้เสียเอง โดยอาจเปลี่ยนชื่อเอา PM ออก (อย่างไรก็ตาม @Abhisit มีคนใช้ไปแล้ว)
  4. คุณอภิสิทธิ์สร้าง Account ตัวเองใหม่ สำหรับใช้เป็นส่วนตัว

คุณว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ 🙂