ขั้นตอนการเสนอราคา การทำเว็บไซต์

ขั้นตอนการเสนอราคา โดยปกติ TiGERiDEA จะแบ่งเป็นสเกลต่างๆ สำหรับองค์กรขนาดต่างๆ ดังนี้ครับ ซึ่งจะสามารถประยุกต์ใช้กับหน่วยงานอื่นๆก็ได้

1. ขั้นตอนการเสนอราคา องค์กรขนาดเล็ก หรือเว็บส่วนบุคคล

โดยปกติจะเริ่มจากคุยสิ่งที่น่าสนใจทางโทรศัพท์หรือมีการนัดคุย (แล้วแต่สเกลของเว็บไซต์ ถ้าเว็บราคาต่ำกว่า 50,000 บาทมักคุยงานทางโทรศัพท์ทั้งหมดครับ ) และให้ทางทีมงานทำเว็บเป็นผู้เสนอราคา (Quotation ) ระหว่างนั้นถ้าลูกค้าต้องการดูแนวดีไซน์ทางทีมงานจะส่งเว็บที่ เป็น Reference หรือ Template ไปให้ แต่ไทเกอร์จะไม่มีนโยบายดีไซน์ไปให้ดูก่อนเซ็นใบเสนอราคานะครับ และถ้าเซ็นใบเสนอราคาไปแล้วทางทีมงานก็จะมีการส่งใบแจ้งหนี้ ( Invoice ) เพื่อเรียกเก็บเงินมัดจำงวดแรกตามเปอเซ็นท์ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยมากถ้าเว็บที่มีราคาต่ำกว่า 50,000 บาทจะเรียกเก็บ 50% ครับ จากนั้นเมื่อได้รับเงินแล้วจึงเริ่มทำงานตามขั้นตอน

สำหรับใบเสนอราคานั้น เมื่อเซ็นแล้วจะสามารถใช้เป็นหนังสือสัญญาในการทำโครงการได้ในตัวเองครับ

2. ขั้นตอนการเสนอราคาองค์กรเอกชนขนาดใหญ่

องค์กรแบบนี้อย่างน้อยต้องมีการเริ่มเข้าไปคุยงานโดยผู้ที่เกี่ยวข้องบางคนก่อน คณะกรรมการขององค์กรอาจมีการเรียกหลายเจ้าเข้าไปคุยเพื่อดูศักยภาพ จากนั้นจะมีการร่าง TOR ( Term Of Requirements ) ของโครงการโดยองค์กรออกมาซึ่งอาจเป็นการร่วมกันร่างก็ได้ และ TOR จะถูกปรับแ้ก้ไปมาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายที่จ้างและฝ่ายถูกจ้าง จากนั้นจึงแนบใบเสนอราคาพร้อม TOR ไปยังฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายจัดซือจะออกใบสั่งซื้อ ( PO : Purchasing Order ) เมื่อได้รับใบสั่งซื้อแล้วทางทีมงานผู้รับจ้าง(ไทเกอร์ไอเดีย)จึงจะเริ่มทำงานได้

สำหรับงานหลายๆงานที่เป็นงานเร่งด่วน เคยมีกรณีที่ลูกค้าซึ่งเป็นหน่วยงานที่ใช้งานทางทีมไทเกอร์เป็นหลักเกิดรีบเร่งมาก พอไทเกอร์ส่งเอกสารเรียบร้อยก็มีการสั่งงานให้ดีไซน์และ revise อยู่หลายครั้ง ปรากฎว่า PO กลับมีปัญหาทำให้งานทั้งหมดที่ไทเกอร์ทำไปนั้นไม่สามารถเก็บเงินได้ทั้งหมด และดีไซน์ที่ทางทีมทำไว้ลูกค้ากลับนำไปให้ Supplier เจ้าอื่นที่ได้รับการออก PO ทำอีกด้วย ดังนั้นต้องระวังให้ดีครับ จุดสำคัญคือเราควรทำงานเมื่อโปรเจ็คได้รับการรับรองว่าต้องทำแล้วตามสัญญาเท่านั้นไม่ว่าโปรเจ็คจะมีขนาดเท่าไหร่

3. ขั้นตอนการเสนอราคา องค์กรของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ

เริ่มจากการมี RFP ( Request For Proposal ) หรือประกาศความต้องการโครงการจากองค์กรของรัฐที่ต้องการการเข้ามาเสนอกิจกรรมพัฒนาต่างๆให้บริษัทต่างๆที่สนใจโครงการ หรือเอกสาร TOR ที่ระบุสเป็คกิจกรรมต่างๆ ถ้าบริษัทใดสนใจจะสามารถเข้ามาเสนอโครงการได้โดยการเข้ามาซื้อซองประมูลงานโดยมีราคาเป็น % ตามมูลค่าโครงการเพื่อป้องกันไม่ให้ใครก็ได้เข้ามาประมูลโครงการร้อยล้านเล่นๆ จากนั้นบริษัทที่สนใจจึงไปร่าง proposal พร้อมใบเสนอราคามาในวันยื่นซอง

เมื่อถึงวันเปิดซอง (ประกาศ สอบราคา )คณะกรรมการที่ได้ตรวจราคาและสเป็คเรียบร้อยแล้วจะแจ้งให้บริษัทที่ได้รับคัดเลือกเข้ามาเจรจาเรื่องการขอลดราคาอีกครั้งหนึ่ง (ถ้าลดได้ ก็ถือว่าฝ่ายจัดซื้อมีผลงานใช้ได้ ) และจากนั้นก็จะมีการชี้บริษัทที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมท่ามกลางสักขีพยาน จากนั้นจึงดำเนินการด้านสัญญาและภาษีต่อ บริษัทผู้รับจ้างอาจต้องจ่ายค่าประกันโครงการให้ผู้จ้างก่อนเพื่อเป็นการป้องกันการหนีงานกลางคันเป็นเปอร์เซ็นแล้วแต่ตกลง โดยมากอยู่ที่ 5- 10% เช่นโครงการสามล้าน ทีมงานอาจต้องจ่ายถึง 3แสนบาท นอกจากนี้สัญญาและเทอมจ่ายเงินอาจจะมีการตีกลับกันไปกันมารวมทั้งต้องเซ็นกันหลายฝ่ายมากตั้งแต่ฝ่ายสัญญา ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายที่ต้องการระบบ ฝ่าย IT ฝ่ายการตลาด ฯลฯ (บางครั้งโปรเจ็คจะเสร็จแล้วสัญญายังไม่เสร็จเราก็ยังเก็บเงินไม่ได้ต้องระวังตรงนี้ด้วย) จากนั้นจึงส่งสัญญาพร้อมสำเนาเอกสาร TOR ที่ตกลงกันแล้วพร้อมเอกสารประกัน และทางบริษัทผู้รับจ้างยังต้องไปเสียอากรแสดมป์หรือค่าสลักหลังสัญญาเป็นจำนวนเงินสัดส่วนตามโครงการที่สรรพากร (ค่าสลักหลังและอากรแสดมป์นี้ถือได้ว่าเป็นการให้สรรพากรเป็นพยานในสัญญาและสรรพากรก็เป็นเสือนอนกินทีเดียวครับ) เมื่อสัญญาเรียบร้อยจะถือว่าเป็นการเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรรัฐมีหลายแบบคือ

  • ขั้นตอนการซื้อและการจ้างโดยวิธีตกลงราคา
  • ขั้นตอนการจัดซื้อ/จ้างโดยวิธีสอบราคา
  • ขั้นตอนการซื้อและการจ้างโ่่ดยวิธีประกวดราคา
  • ขั้นตอนการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
  • ขั้นตอนการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ
  • ขั้นตอนการจัดซื้อ / จ้างโดยวิธีกรณีพิเศษ
  • ขั้นตอนการจัดซื้อ / จ้างโดยวิธีประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ( E ? Auction )

แต่ละแบบจะมีขั้นตอนต่างกันบ้างซึี่งต้องทำความเข้าใจตามโครงสร้างนี้คร้ับ

สำหรับโครงการแต่ละอันจะเข้าหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างแบบไหนลองพิจารณาตามราคาและลักษณะของโครงการดังนี้

รายละเอียดเพิ่มเติม การจัดซื้อจัดจ้าง

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๙
ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการการซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
เว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล
โพสน่าสนใจ เว็บราชการทำไมถึงแพง
โพสน่าสนใจ การคิดราคาเว็บ : ว่าด้วยความหมายใน Quotation/เปรียบเว็บกับบ้าน