ปัญหาด้าน Security Mindset ที่เปิดมากเกินไปของผม

เกี่ยวการพัฒนาตัวเองครับบล็อกนี้

ผมเคยบรรยายหลายที่เกี่ยวกับข้อดีของการพัฒนาความคิดพื้นฐานของคนให้เปิดข้อมูลสู่โลกกว้าง แต่ในขณะเดียวกัน Security Mindset ที่เปิดของผม (กรอบความคิดเกี่ยวกับการป้องกันและปกปิดตัวเอง) ได้ก่อให้เกิด Cost มากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคือการถูกเชิดเอาเงินไป ผมจะมาแชร์ความงี่เง่าของผมให้ทุกคนฟังครับ ดูๆแล้วทุกท่านอาจจะงงมันไม่น่าเกิดขึ้นได้จริงๆ …

1. น้องที่ออฟฟิศเก่าผมคนหนึ่ง สมมติชื่อ A มายืมเงินผมจำนวนหนึ่ง และพาเพื่อนที่เป็นคนค้ำประกันมาด้วยชื่อน้อง B

2.ผมตกลงให้ยืมเงินน้อง A และมีการพิมพ์ สัญญากู้ยืมตามปกติ มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชนน้อง A ไว้และ ถ่ายสำเนาบัตรประชาชนของน้อง B ไว้ด้วยในฐานะพยาน ผมได้รู้จักน้อง B ในฐานะเพื่อนของรุ่นน้อง (ซึ่งจัดว่าผิวเผินมาก)

3. ผมมีธุรกรรมทางดนตรีบางอย่างที่ออกเงินไปก่อน และเงินที่จะเข้ามาอยากให้ผ่านน้อง B เลยให้ลูกค้าออกเช็คเป็นชื่อน้อง B และบอกว่าให้น้อง B ช่วยโอนต่อมาให้ผมหน่อย (อันนี้ผมงี่เง่าเอง เรียกว่า ขี้เหนียวภาษีไม่เข้าเรื่อง) พูดง่ายๆคือ ฝากให้เงินผ่านบัญชีน้อง B โดยที่ผมไม่เข้าใจตัวเองว่าการให้เงินผ่านบัญชีคนที่ไม่สนิทนั้นไม่ต่างอะไรกับการกู้ยืม ผมกลับรู้สึกว่าน้องเป็นผู้ที่มี”ตัวตน” รับผิดชอบได้เหมือนผม ผมทำได้ยังไงเนี่ย !

4.หลังจากเช็คเคลียริ่ง น้อง B ก็หายไปติดต่อไม่ได้ … พร้อมเงินกว่า 6หมื่นบาท

แนวคิดของผมต่อเรื่อง Security

อันที่จริงแนวคิด Security นั้นสำหรับผมเป็นไปในทางเศรษฐศาสตร์นั่นเอง ครับ นั่นคือ เรามีต้นทุนในการระมัดระวังและรักษาความปลอดภัย กับต้นทุนที่เกิดจากของหาย/เสียหายด้วยนั่นเองที่คานกันอยู่ คนทั่วไปอาจจะมองเห็นต้นทุนเฉพาะ”ของหาย” นั่นเอง ทำให้การใช้ชีวิตต้องมีต้นทุนความปลอดภัยอยู่เยอะ

ยกตัวอย่างเช่น การทำรั้วบ้านให้สูงโดยลงทุนหลายแสน แลกกับการลดความเสี่ยงที่โจรเข้ามาขโมยของ หรือการลงทุนกับบริษัทกำจัดปลวกจ่ายรายปีแลกกับราคาบ้านที่จะพัง การติดระบบกันขโมยรถยนต์ การซื้อประกันต่างๆมากมาย การซื้อ Apple Care ( Product ที่กำไรสูงที่สุดของ Apple สูงถึง 95%) หรือเรื่องทั่วไปก็คือเรื่องของ “เวลา” เพราะการทำงานให้ปลอดภัยนั้นต้องใช้เวลามากกว่าปกติเช่นจะออกไปนอกบ้านต้องตรวจตราปิดประตูลงกลอนหน้าต่างกันให้หมดทุกชั้น

ผมเองเลยมีแนวความคิดที่ค่อนข้างเปิด

ผมยังเป็นคนที่ไม่มีศัตรูโดยธรรมชาติ ดังนั้นผมจึงมี Security ที่หย่อนยานกว่าคนในครอบครัวอยู่มากทีเดียว เช่นการลืมปิดประตูบ้านหรือการสตาร์ทรถทิ้งแล้ววิ่งกลับมาเอาของในบ้าน (อาจรวมถึงการใช้ foursqure) ซึ่งในบางกรณีถ้าคิดทางเศรษฐศาสตร์มันก็อาจจะเริ่มไม่คุ้มแล้ว แต่ผมเองดันชาชินเกินไปครับ ซึ่งการได้บทเรียนในแต่ละครั้งก็จะมาแก้ปัญหาได้ แต่อย่างไร Level Security ผมก็คงไม่ต่ำเท่าคุณเม่นที่จอดรถเต่าไว้หน้า IT Mall โดยไม่ล้อครถเป็นเวลานานและมีของจำนวนมากในรถ 😛

ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้ผมมองข้ามความปลอดภัยที่่ง่ายที่สุดไปอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ปรากฏว่าเมื่อผมอธิบายเรื่องแนวคิดของผมในทำนอง”แก้ตัว”ให้น้องสาวผมฟัง เธอก็สาธยายอดีตของผมที่มีความหละหลวมในเรื่อง Security ให้ฟังมาหลายเหตุการณ์ ผมก็เริ่มสำนึกไปด้วยเช่นกัน…

กาลเวลาคงทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ และสุดโต่งน้อยลงได้บ้าง ^__^ อย่างน้อยเรื่องเงินๆทองๆผมก็จะไม่พลาดละ

คำปลอบใจที่เยี่ยมยอดจากคุณจ๋ง

ไม่น่าเชื่อว่า คุณจ๋งปลอบใจผมได้ดีมาก (เพราะเค้ากึ่งปลอบกึ่งชมนั่นเอง) 😛 จ๋งบอกว่าคนที่จะก้าวไปอีกระดับในสังคมได้ก็จะมีคุณสมบัติบางอย่างเช่น การให้ความไว้เนื้อเชื่อใจคน และคนที่เชื่อใจคนมากๆเข้าก็จะมีหน้าปัทม์แห่งความซวยและหน้าปัทม์แห่งความโชคดีผ่านเข้ามาในชีวิต ดังนี้สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมจะต้องจ่ายให้มันอยู่แล้วครับ 🙂