freelance และเทคนิคการทวงเงิน

พูดเรื่องระดับรัฐบาลมาหลายครั้ง คราวนี้ขอเปิดประเด็นแคบลงมาหน่อย เป็นเรื่อง freelance

จากการทำงานแบบเป็น freelance จนถึงการทำงานแบบบริษัท ผมเองได้ติดต่อลูกค้ามากมายและเป็นทั้งผู้ทวงและผู้ถูกทวงเงิน(ที่ผิดใจกันไปก็มี) ทั้งการทำเว็บ หรือทำอนิเมชั่น หรืองาน creative จึงอยากจะแชร์ความคิดเห็นจากประสบการณ์ว่าด้วยเรื่องการทวงเงินของ freelance นะครับ และอาจจะมีประโยชน์ในแง่บริษัทบ้างเช่นกัน

1.รู้ positioning freelance ตัวเองในตลาด

ก่อนที่จะเจรจากับลูกค้าเราควรรู้ position ของตัวเองก่อนครับว่าเราเก่งแค่ไหนในด้านที่ลูกค้าต้องการ มีคนเก่งแบบเราอยู่เยอะหรือไม่ ถ้าเราเป็นมือระดับเทพก็ขอให้คุยเคลียร์กับลูกค้าให้ชัดเจนในช่วงแรกได้เลยครับลูกค้าไม่น่าจะรู้สึกจุกจิกมาก ในกรณีคนจ้างเราเป็นบริษัทปกติจ้างตรงมักไม่ค่อยมีความรู้ทางความสามารถของกลุ่มfreelance ในตลาด แต่ถ้าเอเจนซี่โฆษณาใหญ่ๆเค้าจะมีข้อมูลอยู่ โดยปกติเอเจนซี่รายใหญ่ๆจะให้ความสำคัญกับ account ของ freelance และมีการจัดลำดับความสามารถ/ความเร็ว/ความคุยรู้เรื่องอยู่แล้ว อย่างบริษัท iDo iDea ของผมกับคุณเม่น ถึงแม้จะไม่ใหญ่ก็จะให้เป็นคะแนนจัดลำดับ freelance ไว้เลยครับเป็นแบบเต็ม 5 พร้อมหมายเหตุ เช่น

คุณ ก. ความเก่ง แก้ปัญหา=4 ความเร็ว=4.5 คุยง่าย =3 +ราคา กลางๆ ร้อนเงิน รับงานไม่อั้น
คุณ ข. ความเก่ง แก้ปัญหา=5 ความเร็ว =2 คุยง่าย =3 + ราคากลางๆ บ้านรวย ติส เอาแน่นอนไม่ได้แต่งานดีมาก
คุณ ค ความเก่ง แก้ปัญหา = ? ความเร็ว =? คุยง่าย =4 ราคาถูกมาก ยังเรียนอยู่ portพอใช้แต่ ไม่รู้เก่งหรือเปล่า?(คนใหม่)
คุณ ง ความเก่ง แก้ปัญหา = 2 ความเร็ว =3 คุยง่าย = 2 ราคากลางๆ ( เอาไว้งานล้นค่อยเรียก )

สิ่งสำคัญในการทำงานก็คือ งานเราต้องดีจริงๆและคิดเลยไปถึงตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ครับ (เรียกว่ามี Super Vision นั่นเอง) ประสบการณ์มักเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้งานโดน ผมยกตัวอย่างงานพรีเซ้นท์ของบริษัทแทบทุกที่ชื่นชอบการทำ Animate รูปประเทศไทยมีลูกศรพุ่งออกไปในประเทศต่างๆทั่วโลก 😛 หรือราชการชอบ icon ที่แสดงถึงกลุ่มประชาชนแบบต่างๆ รกๆ โผล่ขึ้นมาเต็มแผนที่เป็นต้น

2.รู้ position คนจ้าง

คนจ้างเป็นใคร มีเครดิตแค่ไหน เป็นบริษัทธรรมดาหรือเป็นเอเจนซี่ เราควรจะรู้นะครับ ถ้าบริษัทเล็กและเพิ่งเปิดใหม่ๆมาจ้างเรา บางครั้งการ control ลูกค้าของเค้าจะยังไม่ดีแต่เค้าอาจจะยังไม่มีปัญหาการเงินมากเพราะมีทุนเหลืออยู่ ฝ่ายจัดซื้อยังไม่มีประสบการณ์ในการดึงเช็ง เราก็อาจจะได้เงินเร็วครับแต่ก็ต้องระวังถ้าเค้าทำงานใหญ่ของลูกค้าของเค้าพลาด เราก็จะมีความเสียงสูงด้วยเช่นกัน ถ้าบริษัทเล็กที่เปิดซัก 2-4 ปี หลายๆที่จะมีปัญหาเรื่อง cash flow บ้าง เพราะฉนั้นต้องระวังและเจรจาอย่างมีหลักฐานทุกครั้ง (ยังแนะนำให้ใช้ email ทกครั้ง เช่นเมื่อเค้าส่ง reference มาให้ก็ตอบ email ว่า “ขอบคุณครับได้รับแล้ว ตามกำหนดจะทำไม่เกินเดือนตุลาคม แล้วผมจะสอบถามเรื่องค่าใช้จ่ายตามที่คุยไว้ว่าจ่ายภายในอาทิตย์สุดท้ายของเดือนตุลาอีกครั้งนะครับ”) ส่วนบริษัทที่เปิดมานานมากแล้วจะมีปัญหาฝ่ายจัดซื้อดึงเงินหรือทำเป็นทองไม่รู้ร้อนเป็นส่วนใหญ่ครับ สำหรับบริษัทเอเจนซี่บางครั้งมีเทอมการจ่ายเงินยาวนานเช่น Ogilvy นั้นเทอม 3 เดือนทีเดียว ส่วนการทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ(ที่ไม่ใช่ agency) มักจะไม่นิยมจ้างfreelance เพราะบริษัทเหล่านั้นต้องการความรับผิดชอบในงานจึงนิยมจ้างบริษัทด้วยกันมากกว่าครับ แต่เนื่องจากภาวะเศรษกิจตกต่ำทำให้บางครั้งงานเล็กๆ บริษัทอย่าง Unilever กับ GM ก็เริ่มจ้าง freelance บ้างแล้วเหมือนกัน ให้ระวังเรื่องมาตรฐานการให้บริการ เช่นการเรียกให้เข้ามาแก้งานด่วน ให้ดีและต้องย้ำว่าคุณเป็น freelance นะ ไม่ใช่ บริษัทลีโอเบอร์เน็ท (ที่ได้รับ agency fee เดือนละหลายล้าน) นะเฟร้ยยย !!

ความเร่งรีบของลูกค้า : ในบางครั้งงานหลายๆงานจะด่วนและมีปริมาณมาก ทำให้บริษัทต้องจ้าง freelance เร่งด่วนและไม่มีเวลาหาเพิ่มมาก ในกรณี agency รายเล็กๆ เช่นบริษัท iDo iDea ของผมเองนั้นไม่มีเวลาที่จะหาและประเมิน freelance รายใหม่ๆเพื่อใช้ทำงานได้ทัน ในกรณีนี้คุณสามารถทำตัวหยิ่งและเพิ่มขอบเขตการเจรจาได้ครับ เช่นเวลารับเงินขอรับก่อน 70% ตอนส่งงานครั้งแรก และเมื่อลูกค้าของเค้าโอเคแล้วค่อยรับอีก 30% เป็นต้น

รู้ Flow การรับงานของ agency : ?ปกติถ้าคนจ้างเป็น Agency ก็จะมี flow การรับงานที่คล้ายๆกันครับ ถ้าเราเข้าใจ flow ของบริษัทเหล่านี้ก็จะไม่งงและใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจาได้ ประมาณว่า “ชั้นรู้ดีนะว่าเธอได้เงินงวดแรกแล้ว” สำหรับ flow โดยทั่วไปของบริษัท agency ต่อลูกค้าของพวกเค้า คือ

  • ก. ออก Quotation (ใบเสนอราคาในขั้นตอน pitch งาน) โดยถ้าออกให้บริษัทลูกค้าที่เป็นเอกชนอาจมีรายละเอียดขอเก็บเงินก่อน ขั้นนี้บางทีเอเจนซี่อาจมีการโทรมาหาเรา เช่นบอกว่าให้ช่วยเขียน storyboard ให้หน่อยนะ ลูกค้าจะได้ตัดสินใจ คุณก็อาจจะรีบเขียนให้โดยที่ไม่รู้เลยว่าเอเจนซี่จะได้รับงานนี้หรือเปล่า แถมบางทียังมี revise อีกแหนะ ?!? ดังนั้นต้องคุยให้ชัดเจนว่าคุณไม่มีความเสี่ยงตรงนี้อยู่ในกรณีเอเจนซี่ไม่ได้งาน
  • ข.ลูกค้าส่ง P.O ( purchasing order) กลับมาให้เอเจนซี่ ก็คือลูกค้าอนุมัติให้ทำงานได้และอาจมีการเรียกเก็บเงินมัดจำก่อน โดยวาง invoice 30-50% ในขั้นนี้ตามรายละเอียดใน Quotation ดังนั้นถ้าเอาเจนซี่รายนั้นบอกคุณตอนทำงานเสร็จว่า ลูกค้าของเค้ายังไม่จ่ายเงินซะทีขอจ่ายคุณเลทหน่อยนะ คุณก็อ้างตรงนี้ได้ครับว่าเห็นรับงวดแรกมาแล้วนี่นา
  • ค.งาน revise แก้ไข อันนี้ควรมีบันทึกว่าแก้ไขไปกี่ครั้งเพราะอะไร คุณอาจระบุว่าขอแก้ไม่เกินสอง-สามครั้งก่อน หลังจากนั้นจะชาร์ทเพิ่มนิดหน่อยเพราะ”ผมไม่ไหวเหมือนกัน”ก็ควรเกริ่นไปก่อนตั้งแต่แรก หรือตั้งแต่เริ่มแก้ครั้งที่หนึ่งครับ ปกติ AE ( Account Executive หรือคนประสานงานลูกค้าระหว่างการทำงาน ) ของเอเจนซี่ใหญ่ๆจะมีความเก่งพอสมควรและน่าจะทำให้งานจบได้ แต่ถ้าบริษัทเล็กๆและเพิ่งเกิด AE อาจไม่เก่งพอในการเจรจา และทำให้เอเจนซี่จบงานยาก และส่งผลมาถึง freelance ที่รับงานต้องแก้เยอะด้วย
  • ง.งานเสร็จ ได้รับการอนุมัติจบ เอเจนซี่จะวาง invoice หรือ ใบแจ้งหนี้ ให้แก่ ลูกค้าของเค้าและรอรับเงินตามเครดิตเทอม (บางที่จะมีใบรับมอบงานก่อนด้วย) ในขั้นนี้เป็นขั้นที่เอเจนซี่ยังไม่ได้รับเงินจริงๆ และมักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างขอยืดเวลาจ่ายเงินเรา ดังนั้นลองพิจารณาสถานะเราว่าเราควรรับความเสี่ยงในการรับเงินช้าตรงนี้หรือไม่ ถ้าไม่ต้องการ ข้อสำคัญคือเราต้องพูดไว้ก่อนจะถึงเวลาทุกครั้งครับ
  • จ.รับเงิน ออกใบเสร็จรับเงิน(receipt) ในกรณีที่เป็นเช็คที่ลูกค้าให้เอเจนซี่เป็นธนาคารเดียวกันเอเจนซี่จะได้รับเงินภายในวันนั้นครับ แต่ถ้าเป็นเช็คต่างธนาคารจะใช้เวลาเคลียริ่ง 1-2 วัน เช่นถ้าเค้ารับเช็ควันพฤหัส ก็อาจจะเคลียร์วันศุกร์และจันทร์ กว่าจะได้ก็วันอังคารแต่ยังไง ข้ออ้างว่า “เช็คยังไม่เคลียริ่ง”ก็จะใช้ได้ไม่เกินสามวันทำการครับ อย่าให้บัญชีเค้าใช้เรื่องนี้ดึงเช็งนานนะ

รู้ position คนมีอำนาจตัดสินใจ : คนที่ติดต่อเรามีความสำคัญในบริษัทนั้นๆอย่างไร มีอำนาจในการตัดสินใจจ่ายเงินเราหรือไม่อันนี้เราก็ควรรู้ครับ สำหรับ เอเจนซี่ใหญ่ๆนั้นจะมีตำแหน่ง Traffic ซึ่งเป็นคนติดต่อประสานงานด้านการผลิตอยู่ ( flow คือ Sale ขายงาน ส่งต่อให้ AE, AE รับบริฟลูกค้า ตีโจทย์ ส่งต่อให้ Traffic, Traffic เป็นคน manage ด้าน resource โดยควบคุมให้งานออกมาตรงเวลาซึ่ง traffic จะเป็นผู้ประสานงานทั้งกับ production ภายในและfreelance) ถ้าเราติดต่อกับ traffic การออดอ้อนกับ traffic ว่า”ชั้นทำงานให้ไม่ไหวแล้วนะ จ่ายตังค์ชั้นซักที” traffic ก็จะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองจะมีปัญหากับการทำงานในอนาคตกับ freelance คนนี้ เลยต้องไปตามเรื่องเงินกับฝ่ายบัญชีหรือหัวหน้างานให้เราอีกที ถ้า traffic เป็นคนมีอิทธิพลข้างในก็สามารถที่จะตามให้ได้ครับ แต่ถ้าเค้าไม่มีอิทธิพลคุณก็ต้องโทรไปตามบัญชีหรือหัวหน้าของเค้าโดยใช้ข้อความของ traffic ที่ยืนยันว่างานคุณเสร็จแล้วเป็นตัวเร่งคนเหล่านั้นอีกที แต่สำหรับในบริษัทเล็กหรือบริษัททั่วไปบางครั้ง AE หรือ เจ้าของบริษัทเป็นคนติดต่อคุณเองก็ขอให้รู้ว่าอำนาจจ่ายเงินนั้นอยู่ที่ไหนก็เพียงพอครับ

ระบบ cashflow ของบริษัท :บริษัทที่ cashflow ติดลบ หรือสภาพคล่องไม่ดี มีสิทธิทำให้บริษัทนั้นๆเจ๊งได้ทันที เพราะ ฉนั้นการบริหาร cashflow ในสภาวะวิกฤติคือให้ priority กับรายจ่ายที่จำเป็นก่อนครับ รายจ่ายที่จำเป็นอันดับหนึ่งก็จะเป็นพวกที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย(เช่นจ่ายภาษี) กับเงินเดือนพนักงานประจำในบริษัทนั้นๆ แล้วตามด้วยรายจ่ายอื่นๆรวมทั้ง freelance บางทีอาจจะอยู่หลังสุดก็เป็นได้ 😛 ถ้าคุณทวงตังค์ในช่วงวิกฤติของเค้าก็มักจะได้เงินยากครับ เช่นทวงตังค์ในช่วงเงินเดือนพนักงานกำลังจะออก หรือทวงตังค์ในช่วงที่บริษัทต้องจ่ายภาษีพอดี ดังนั้นต้องทำให้เค้าเห็นความสำคัญของ account เราด้วยวิธีการต่างๆนานาและมี timing ทวงเงินที่ดี

ตารางการควบคุม freelance หลายสิบคนสำหรับโปรเจ็ค True Animation ถ้าเราไม่เด่นจริง คนจ้างจะจำเราไม่ได้
ตารางการควบคุม freelance หลายสิบคนสำหรับโปรเจ็ค True Animation ถ้าเราไม่เด่นจริง คนจ้างจะจำเราไม่ได้

3. คุยเรื่องการจ่ายเงินแต่แรก

พอมีลุกค้าโทรมาเราว่า “พีี่มีงานให้น้องทำ เห็นว่าน้องเก่ง flash ใช่มั้ยครับ รับงานประมาณนี้นะ reference นี้นะราคาประมาณ xxx โอเคหรือเปล่าครับ ” พอเราตกปากรับคำเสร็จเอางานมาทำแล้วมักจะลืมคุยว่าจะเค้าจะจ่ายเงินเมื่อไหร่ อันนี้ผิดหลักนะครับ อย่างน้อยให้เค้ารับคำว่า “จะจ่ายทันทีหลังงานเสร็จ (เพราะเค้าขอราคาถูก) หรือว่า จ่ายทันทีเมื่อลูกค้าจ่ายซึ่งเราต้องหาวิธีรู้ว่าลูกค้าเค้าจ่ายหรือยัง หรือจ่ายหลังงานเสร็จแต่ตามวันวางบิลของบริษัท หรือไม่งั้นก็ต้องขอเบอร์ผู้รับผิดชอบด้านการเงินและโทรไปเช็คหลังจากคุยงานด้วยกับซักสองสามวันครับ หลังจากนั้นต้องคอนเฟิร์มตาม email ที่ลูกค้าให้มาด้วยอีกครั้งหนึ่งและแนบ email ผู้รับผิดชอบด้านการเงินไปด้วยครับ การคอนเฟิร์มด้วย email นั้นสามารถใช้เป็นหลักฐานได้และเมื่อทวงเงินก็เอาเมล์อันนั้นแหละ reply กลับไป เค้าจะได้เห็นว่าเลทมากี่อาทิตย์แล้วครับ

4.ประเด็นด้านจิตวิทยา

อันนี้อยากให้แชร์กันครับ ว่าเจออะไรกันมาบ้าง อ่านขำๆไม่ซีเรียสนะ 🙂

ก.ลูกค้าเวลา deal งานกับเรามักจะให้ความหวังถึงดีลในอนาคตเป็นปกติครับ เช่น งานนี้รับถูกหน่อย พี่มีงานให้ทำอีกเยอะนะ กำลังจะได้โปรเจ็คนู้นโปรเจ็คนี้ ฯลฯ สำหรับความเห็นของผมในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ การทำงานแบบ win-win ณ ปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายนั้นดีที่สุดครับ 🙂 เราทำงานให้ดีเต็มที่ และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมก็เพียงพอต่อการรับประกันในอนาคตของเราแล้ว ดังนั้นอย่าไปทำงานขาดทุนและหวังว่าจะได้รับงานที่ดีกว่าในอนาคต ! ผมโดนมาแล้ว เจ็บด้วย ! เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังในโพส “กรณีศึกษา:รวมงานที่เจ๊งของไทเกอร์ไอเดีย” ต่อไป

ข.ถ้าโปรเจ็คใหญ่ และมี freelance หลายคน เราอาจพยายามรู้จัก freelance คนอื่นไว้ด้วย (หรือพยายาม ทำเป็นรู้จักก็ได้) เช่นการกระจายงานบางครั้งเอเจนซี่จะส่งเมล์ถึง freelance หลายคน หรือการโอนถ่ายงานที่ freelance บางคนทำไม่ทันไปให้ freelance อีกคนก็เป็นจังหวะที่เราจะรู้ได้ หรือคลัง animate กลางที่ต้องส่งให้ freelance หลายคนไปประกอบก็เช่นกัน การรู้จัก freelance ยิ่งหลายคนจะยิ่งทำให้คนจ้างเกรงใจว่าถ้าเค้า “หมา” กะเรา คนอื่นที่เค้าจ้างก็จะรู้ด้วยครับ

ค.รู้จักคนใกล้ตัวคนที่จ้างเรา ผมมีตัวอย่าง freelance คนนึงที่เก่งระดับเทพมากๆชื่อ น้อง ป. (คนนี้เก่งจริงๆครับมี supervision ที่ดีด้วย ถ้าใครสนใจ ผมแนะนำได้นะ) เค้ามีวิธีการตามเงินโดยคุยกับคนรอบข้างของเราทั้งหมดถ้าจ่ายเงินช้า ทั้งน้อง admin, น้อง programmer , freelance คนอื่นที่เป็นเพื่อนๆเค้าและทำงานให้เราอยู่ด้วย โดยคุยว่าไม่เข้าใจว่าทำไมเราจ่ายช้า (ซึ่งจริงๆบริษัทก็มีเหตผลที่จ่ายช้าอยู่) พอถึงจุดสุดท้ายเราก็ไม่อยากให้คนรอบข้าง(เช่นคุณเม่น)ปวดหัว ก็ต้องเจรจากับเค้าให้ได้ครับ 😛

ลองดูตัวอย่างบทสนทนา ที่คุณเม่นส่งมาให้ผมเรื่องน้องคนนี้ทวงตังค์ผมผ่านคุณเม่น (ที่ทำ flash ในหน้า “ประชาชนได้อะไร”ของโปรเจ็คช่วยชาติ.com) จะเห็นว่าจิตวิทยาของน้องเค้าใช้ได้เลย พอคุณเม่นส่งเรื่องมาถึงผมไม่ได้เงินก็ยังไปกดบัตรเครดิตให้น้อง ป. สดๆกันเลยทีเดียว 😀

น้องป. /หลอกให้ทำงานนี่นา

Menn! /เห็นว่ามีลูกค้าเลื่อนเช็ค ตามฟอร์ม

น้องป. / ไรเนี่ย

Menn! / พี่ต้องจ่ายค่าบัตรเครดิต 5,500 ให้น้อง ป. ได้สุดๆ 500 เอาก่อนเป่าอืม แต่เงินค่าสอนที่เชียงใหม่ น่าจะออกพรุ่งนี้เดี๋ยวพร่งนี้พี่ให้ก่อนอีก 3,000 ละกันนะโอเป่า

น้องป. / 5555

Menn! /เอาจริงนะเนี่ย

น้องป. /555 แล้วมัยมันเป็นงี้อะคับ ผมงงนะเนี่ย

Menn!/ก็มีลูกค้าเลื่อนจ่ายเช็ค เรื่องธรรมดา

น้องป. / เอ แล้วเป็นบริษัทได้ยังงัยถ้าไม่มีสำรองจ่ายอะคับ งง หุหุ

Menn! / นั่นดิ ช่วงนี้ก็กระทบเป็นช่วงๆ น่ะ พี่เลยพยายามหมุนของพี่ให้ก่อนงัย โอป่ะล่ะค้าบ
หรือว่าจะรอพี่พัชทีเดียวเลย

น้องป. /ทีเดียวก็ได้ครับพี่ เดือดร้อนก็ต้องด้วยกันแหละคับ แต่ผมแค่ งง

ง. ดูว่าคนที่จ้างเรานิสัยอย่างไร ถ้านิสัยใจดีขี้เห็นใจก็ง่ายเลยครับ เราควรพูดจาดีๆ อ่อนน้อมเข้าหา และสามารถอ้างเรื่องพ่อตายยายป่วยได้สารพัดเพื่อให้เค้าจำเราได้และให้ priority การรับเงินแก่เรา ถ้าเค้าเป็นคนที่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับการจ่ายเงินเช่น purchasing ของบริษัทใหญ่ๆทั่วไป เราก็ต้องเล่นกับเจ้านายเค้าว่ามันจะกระทบการทำงานต่อไป ถ้าเค้าเป็นคนที่รู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นผู้นำสูง มีความมั่นใจในตัวเอง(เช่นผู้บริหารบริษัทขนาดเล็กถึงกลางทั้งหลาย) พวกนี้เราต้องพูดเรื่องเงินกับเค้าต่อหน้าคนอื่นครับ เช่นหลังประชุมระหว่างที่เดินออกมาพร้อมๆกับพนักงานและลุกค้าคนอื่นๆคุณก็พูดว่า ผมจะวางบิล/ทำเรื่องรับเงินได้เลยหรือเปล่าครับ เค้ามักจะรักษาหน้าหรือโชว์พาวด์ด้วยการบอกว่า ได้เลย ! 😀

จ.เราควรหาโอกาสแสดงว่าตัวเองสำคัญ เป็นที่รู้จักในวงการ แต่ต้องไม่ตั้งใจโอ้อวดนะครับ เช่นอาจจะพูดถึง เว็บบอร์ด ที่เป็นแหล่งรวม freelance ที่เราเป็นสมาชิกอยู่ หรือไม่ก็พูดว่า blog ตัวเองนั้น pagerank 3 แล้วนะ 😛 เพราะฉนันเค้าจะรู้ตัวเองดีว่าถ้า “หมา”กับคุณอะไรจะเกิดขึ้นกับเค้า

ฉ.ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก ถ้า เอเจนซี่มี freelance อยู่หลายสิบคน คุณคงนึกออกว่าคนที่ทวงบ่อยเท่านั้นที่เค้าจะจำได้และให้ความสำคัญกับคุณ อย่าไปหยิ่งและนึกว่าพอถึงเวลาเค้าจะประเคนเงินมาให้นะครับ หมั่นโทรเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลา โทรเมื่อถึงเวลา และโทรยิกเมื่อเกินเวลาเสมอครับ ! อย่าลืมว่า เทคโนโลยีการจ่ายเงินให้ supplier นั้นไม่มีใครยอมให้มันพัฒนาอยู่แล้ว


ข้อน่ารู้ : ทำไมต้องหัก 3%

อันนี้เป็นคำถามกับ freelance เสมอๆครับว่าทำไมบริษัทบอกว่าให้รับเงินหมื่นนึง พอถึงเวลากลับให้ 9700 นั่นเป็นเพราะบริษัทเองต้องจ่าย 300 บาทให้กับ สรรพากรด้วยนั่นเองครับ ปกติธุรกิจประเภท”ปั้นน้ำเป็นตัว” (สรรพากรมี perception กับธุรกิจบริการแบบนี้) จะไม่มีรายจ่ายด้าน material ทำให้ต้องจ่ายภาษีสูงมากกกกก บางทีรายได้หนึ่งล้านต้องจ่ายภาษีมากกว่าสามแสนทีเดียว เพราะฉนั้นบริษัทจึงจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายครับ ด้วยค่าใช้จ่ายนี่ก็คือค่าจ้างที่ให้แก่ freelance นั่นเอง ดังนั้นก็เลยต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายเกิดขึ้น ถ้าคุณอยากได้เงินเต็มๆก็ควรเจรจาหรือเพิ่มค่าตัวตั้งแต่แรก ในบางกรณีที่คุณได้เงินเต็มๆโดยไม่ต้องหักภาษีอาจจะเป็นเพราะบริษัทนั้นยังเป็น “มือใหม่” อยู่หรือโครงการที่บริษัทรับไม่ได้แจ้งรายได้ถูกต้องตามกฏหมายนั่นเอง ไม่อย่างนั้นบริษัทต้องแจ้งค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้วตัดภาษีให้คุณพอดีซึ่งทำให้บริษัทต้องรับภาระภาษีซ้ำซ้อนขึ้นอีก อ้อ ในใบหัก ณ ที่จ่ายคุณสามารถเคลมภาษีคืนรายปีได้นะครับ แต่เสียเวลาหน่อย

หัวข้อที่น่าอ่านเพิ่มเติม
เว็บราชการทำไมถึงแพง
ทำเว็บรัฐบาล ตอนที่ 6 แดงทั้งแผ่นดินแล้วผมจะได้เงินมั้ย