เว็บราชการ/ งานรัฐบาล ทำไมถึงแพง ?

ลองดูความจริงดังต่อไปนี้กันก่อนครับ

กรมสรรพากรซื้อคอมพิวเตอร์ PC 1500 เครื่องรวม 64,200,000 บาท (ราคาเครื่องละ 42,800 บาท)

เว็บ ททท.ที่ประมูลเสร็จไปแล้วนั้นราคาวงเงิน 40 ล้านบาท

ระบบเก็บข้อมูลราชการราคามาตรฐานนั้นสิบล้านบาท

เฉพาะฐานข้อมูลของเว็บต้นกล้าอาชีพราคามากกว่า 14.7 ล้านบาท

ระบบ Single sign on ที่ Run บนเว็บไซต์ราชการจะมีราคาไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

และอีกมากมาย ถ้าคุณต้องการดูเกี่ยวกับการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง สามารถดูได้ที่เว็บไซต์จัดซื้อจัดจ้างของรัฐ จะเห็นว่าในแต่ละวันมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเป็นร้อยโครงการ แต่ละโครงการก็เป็นเงินเฉลี่ย 5 ล้านบาท โดยเฉพาะเว็บไซต์นั้นราคามาตรฐานที่ประกาศด้วยวิธีทางอิเล็คโทรนิคส์เริ่มต้นที่ 5 ล้านบาทเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายชื่อผู้ทิ้งงานราชการ ( blacklists ) อยู่เป็นจำนวนมากด้วยแสดงให้เห็นว่าการทำงานราชการนั้นมีความเสี่ยงอยู่อย่างแน่นอน สำหรับใครที่บ่นว่า ทำงานนู้นงานนี้แพงจังใช้ภาษีประชาชนผมแนะนำให้คนๆนั้นส่งเรื่องเข้าประมูลงานเลยครับ มีงานราคาหลายล้านรอคุณอยู่ทุกวัน อย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าไม่มีเส้นมีสายเลยไม่อยากสนใจนะ
😛

เนื่องจากกระทู้นี้เป็นกระทู้ที่แสดงให้เห็นอีกมุมมองของการทำงานโปรเจ็ครัฐบาลดังนั้นผมจะขอแสดงกรณีในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่ ว่าทำไมการทำงานในโปรเจ็ครัฐบาลถึงแพงนั้นมีมุมมองด้านต้นทุนอยู่หลายกรณีครับ และขอรบกวนผู้ที่มีประสบการณ์ช่วยชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะครับ 😀

เมื่อไหร่ทำงานแล้วมีตรานี้ เมื่อนั้นควรอ่านบล็อกนี้นะครับ
เมื่อไหร่ทำงานแล้วมีตรานี้ เมื่อนั้นควรอ่านบล็อกนี้นะครับ

ด้านการ pitch งาน

กว่าจะได้ทำงานรัฐบาลนั้นมีขั้นตอนการลงทุนสูญเปล่าหลายอย่าง เช่นการสร้าง proposal ที่เหมาะสมซึ่งต้องใช้ผู้บริหารในการเขียนงาน บางทีหลายวัน ,การทำตัว Demo หรือดีไซน์พื้นฐานประกอบ Proposal ให้ทีมงานยอมรับ การทำเรื่องประมูลตามกฏหมาย ,การซื้ออากรแสตมป์และการซื้อซองและประกันซองซึ่งมีมูลค่าเป็นเปอเซ็นต์ตามโครงการ(ถ้าประมูลไม่ได้ ก็ไม่ได้เงินคืนด้วย) การดำเนินการต่างๆเหล่านี้บางทีกินเวลาหลายเดือนและถ้าคิดด้าน Manday ผู้บริหารอย่างเดียวก็เป็นแสนบาทแล้วครับ บวกค่าประกันซองและค่าอากรแสตมป์ ซึ่งจะต้องไปซื้อสแตมป์ที่กรมสรรพากรในมูลค่า 1บาทต่อ 1,000 ของมูลค่าโครงการ (โครงการราคา 1,000 บาทใช้แสตมป์ราคา หนึ่งบาท แสตมป์มีมูลค่าสูงสุดดวงละ 20 บาท ถ้าโครงการ สองร้อยล้านบาทต้องติดแสตมป์หมื่นดวง !) หลังจากนั้นก็ต้องใช้ manday ไปกับการพบปะเจ้าหน้าที่ และไปฟังการชี้การประมูลกับผู้รับจ้างรายอื่นๆด้วย และสุดท้ายก็คือต้องส่งเงินประกันโครงการ 10% ของมูลค่าโครงการให้รัฐด้วย (ถ้าโครงการ สองร้อยล้านต้องออกเงินประกันโครงการก่อนทำงานให้รัฐก่อน 20 ล้านบาทเลย )

อากรสแตมป์จำนวนมากที่น้อง admin ต้องติดแนบสัญญาสำหรับโปรเจ็คราคาสามล้านบาท ถ้าใช้น้ำลายก็คงเกลี้ยงปากพอดี
อากรแสตมป์จำนวนมากที่น้อง admin ต้องติดแนบสัญญาสำหรับโปรเจ็คราคาสามล้านบาท ถ้าใช้น้ำลายก็คงเกลี้ยงปากพอดี

ด้าน Asset บริษัท

บริษัทที่จะรับงานรัฐบาลได้ ต้องมีการสะสมบารมี หรือ port ของบริษัทไว้ระดับหนึ่งและมีอายุในการตั้งที่ผ่านมาหลายปี มีความเชี่ยวชาญบางด้านที่แตกต่างจากบริษัทอื่นๆที่จะใช้เป็นประเด็นในการเปรียบเทียบเหตผลว่าทำไมจึงเลือกบริษัทนี้เข้ามาทำงานถ้ามองในมุมความเชื่อมั่นของผู้จ้างก็คือรัฐบาล(หรือแม้แต่คุณเป็นผู้จ้าง) ก็ต้องมั่นใจว่าบริษัทนั้นๆเคยทำงานด้านนี้มาแล้ว และต้องมั่นใจว่าจะมีการ Support ในภายหลัง ดังนั้นสเป็คที่ออกมาถ้ามองในมุมคนธรรมดานั้นจะเหมือนกับล็อคสเป็คเป็นอย่างมากเลยครับ ตัวอย่างเช่นผมเคยประมูลเว็บไซต์หนึ่งของกองทัพเรือซึ่งมีมูลค่าห้าล้านบาทและไม่ได้ทำ พบว่าสเปคของผมค่อนข้างเสียเปรียบอย่างมาก ลองดูสเป็คสิครับ แล้วลองทายว่าสเป็คจัดซื้อนี้น่าจะเป็นสเป็คของผู้ทำเว็บรายใด 😕

ลองดู Spec ของบริษัทที่มีสิทธิจะได้ทำเว็บนี้ดู ว่าคุณมีสิทธิหรือไม่ ใครน่าจะมีสิทธิ ?
ลองดู Spec ของบริษัทที่มีสิทธิจะได้ทำเว็บนี้ดู ว่าคุณมีสิทธิหรือไม่ ? หรือใครน่าจะมีสิทธิ ?

อีกประการหนึ่งคือทุนจดทะเบียนของบริษัท ทุนจดทะเบียนนั้นเป็นตัวบอกคร่าวๆถึงขอบเขตการรับผิดชอบของบริษัทเมื่อบริษัททำงานบางอย่างแล้วเกิดความเสียหาย นั้นในทางปฎิบัติต้องไม่ต่ำกว่ามูลค่าโครงการท่ีเราทำอยู่ เช่นโครงการมูลค่า ห้าล้านบาท ทุนจดทะเบียนบริษัทของคุณก็ไม่ควรต่ำกว่าห้าล้านบาทเช่นกันเพราะถ้าคุณทำเสียหายจะได้ชดใช้ได้อย่างน้อยในวงเงินของโครงการ และการเพิ่มทุนจดทะเบียนก็มีขั้นตอนและกฏเกณฑ์ของมันเหมือนกันและในกรณีถ้าเพิ่มแล้วอยากจะลดทุนจดทะเบียนจะทำได้ยากกว่าอีกเพราะจะมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานมาตรวจสอบว่าทำไมอยู่ๆคุณถึงลดทุน มีโปรเจ็คอะไรค้างอยู่หรือเปล่า และสถานะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นทุนจดทะเบียนบริษัทก็จะมีต้นทุนของมันอยู่เช่นกัน (อย่างน้อยก็เงินประกันทุนจดทะเบียนที่แช่ในแบ๊งค์โดยไม่ได้ทำอะไร)

ด้านความเสี่ยง

ความเสี่ยงจากการทำงานราชการนั้น มีบางกรณีที่มีความเสี่ยงที่สูงมากๆ ซึ่งมูลค่าตรงนั้นในบางครั้งสามารถทำให้คุณต้องล้มละลายหรือติดคุกได้เลยทีเดียวนะครับ ทำไมน่ะหรือ

เพราะว่าคนที่สั่งให้เราทำนั้นไม่ใช่เจ้าของเงินนั่นเอง

การทำงานด้านเอกชนนั้น คนที่เป็นเจ้าของเงินเป็นผู้ที่สั่งให้เราทำ เพราะฉนั้นเค้าจะต้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดจริงๆที่จะยอมเสียเงินทำงานให้เสร็จ และยิ่งงานเสร็จช้า ต้นทุนของค่าเสียโอกาสจากบริษัทเหล่านั้นจะมีค่ามากกว่าเงินที่เค้าไม่ได้จ่ายให้แก่บริษัททำระบบครับ เช่นสมมติว่า Dtac จ้างบริษัท ไทเกอร์ไอเดีย ทำงานเว็บ service ตัวหนึ่งให้อย่างเร่งด่วน ถ้าบริษัทไทเกอร์ไอเดียทำงานช้าไปหนึ่งเดือน บริษัทไทเกอร์จะขาดทุนไป หนึ่งแสนบาท แต่บริษัท Dtac อาจสูญเสียรายได้จากบริการนี้ไปถึง หนึ่งล้านบาท นั่นทำให้ Dtac ต้องเร่งและอาจประนีประนอมให้งานเสร็จโดยเร็ว (หรือไม่ก็ไปจ้างบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนห้าสิบล้านมาทำแทนเพื่อให้รับผิดชอบค่าปรับจากการจบงานช้าได้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่คิดราคาถูกแน่ๆ) แต่ในกรณีที่เอกชนไม่รีบร้อนในการทำงาน คุณก็มีสิทธิเดือดร้อนเรื่องนี้ไม่แพ้กันครับ

แต่สำหรับรัฐบาลที่ทางผมประสบอยู่โปรเจ็คหนึ่งในขณะนี้ก็คือ ในครั้งแรกนายใหญ่มีวิสัยทัศน์ที่ดีทำให้ลูกน้องขยันขันแข็งเป็นอย่างมากและมีทิศทางที่ต้องการให้งานจบ เราก็ทำงานไปได้ด้วยดี แต่หลังจากนั้นสภาพการเมืองเปลี่ยนทำให้เค้าสญเสีย focus ในโปรเจ็คนี้ ลูกน้องก็เลยพลอยเสีย focus ไปด้วย และลืม objective ในการทำงานทั้งโปรเจ็คทั้งหมดไปเสียแล้วจึงเกิดการแก้ไขไปมาและการเดินทางอันไร้จุดหมายที่ไม่รู้จักจบสิ้นมาเป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว เหมือนทุกคนทำตามหน้าที่ โดยประคองไม่ให้โปรเจ็คจบ !

ความเสี่ยงที่เกิดจากการมีคณะกรรมการ Approve งานที่เปลี่ยนไปทุกวัน

ลองเปรียบเทียบกับการทำงานเอกชนที่มีเจ้านายใหญ่หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการที่ใหญ่ที่สุด ย่อมสามารถเป็นคนฟันธงได้ ยิ่งงานใหญ่คนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน คน Approve ก็จะยิ่งเยอะขึ้นครับ โปรเจ็ครัฐบาลบางโปรเจ็คมีการ assign คนเข้ามาดูเพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องการผู้แชร์ความรับผิดชอบ ดังนั้นทุกคนที่เข้ามาก็จะทำหน้าที่ของตัวเองเป็นลำดับขั้นครับนั่นก็คือ การแสดงอำนาจของตนในสายงานก่อน แล้วจึงค่อยหาที่ติงานเพื่อที่จะได้ให้คนอื่นรู้ว่า”ผมทำหน้าที่แล้วนะ”โดยไม่มีใครสนใจ Objective ของงานเท่าที่ควร( ผมยกตัวอย่างง่ายๆเช่น บางคนอยากให้เรา Config ระบบ mail ภายในให้ใกล้เคียง gmail ทั้งที่ gmail นั้นพัฒนามาหลายพันล้านบาทแล้ว ครับ และที่สำคัญคือคนๆนั้นก็ไม่ค่อยได้ใช้เมล์ด้วย ) และปัญหา “คน approve งาน ” ไม่ถูกกันนั้นมีโดยปกติครับ

photo-40

ประชุมใหญ่ขนาดข้างบนนี้ ^ คิดหรอว่าทุกคนจะบอกว่า “โปรเจ็คนี้โอเคแล้ว ผ่านได้”

ปัญหาความเสี่ยงจากความไม่รู้ความต้องการตัวเองและความไม่รู้เทคนิคของทีมงานรัฐบาล

อันนี้เป็นปัญหาคลาสสิคอยู่แล้ว บางครั้งการคิดโปรเจ็คขึ้นมาโดยไม่รู้ความต้องการตัวเองว่าอยากได้อะไรกันแน่ ปกติใน phase การทำงานของการสรุป requirement และ deliverable นั้นก็เป็นตัวช่วยให้ทีมงานค้นความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าออกมาได้บ้าง แต่ถ้าลูกค้ายังไม่ชัดเจนก็มีความสุ่มเสี่ยงที่ phase นี้จะเยิ่นเย้อออกไปอีกนานมาก ผมเองเคยมีประสบการณ์ที่ลูกค้าไม่รู้ความต้องการตัวเองแล้วยังไม่มีใครอ่าน proposal ที่อุตส่าห์ทำมาอย่างละเอียดอีกด้วย ส่วนเรื่องลูกค้าไม่รู้ด้านเทคนิค ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นลูกค้าที่สั่งให้ทำเว็บหลายคนนั้นไม่รู้จักคำว่า Browser ! และไม่เคยท่องเว็บเลย แน่นอนว่า Requirement ฟุ้งสำหรับคนแบบนี้ครับ ซึ่งโดยส่วนมากเป็นคนใหญ่ๆโตๆที่พอมีอายุแล้ว

ความเสี่ยงจากการที่คนทำงานรัฐบาลหลายฝ่ายไม่สนับสนุน/ไม่ยอมรับความเสี่ยง

อันนี้เกิดกับบริษัทของรุ่นพี่วิศวฯจุฬาเองครับชื่อ บ.MFEC มหาชน จำกัด โดยบริษัทนี้ไปรับโปรเจ็ค SSO (Single sign on) ของเว็บไซท์กรมสรรพากร ระบบนี้พูดง่ายๆคือเป็นระบบที่ user login ครั้งเดียวและสามารถเข้าไปใช้งาน Module ต่างๆของกรมสรรพากรได้ ฟังดูก็ง่ายๆแค่ระบบ login แต่มันก็ราคาหลายสิบล้านบาทครับ ในแต่ละโมดูลของสรรพากรนั้นมีคณะ ดร.ในแต่ละทีมต่างๆของราชการดูแลอยู่ ดร.แต่ละคนก็มีความเชื่อมั่นของตนเองและไม่ยอมปรับเปลี่ยนสเป็คบางอย่างให้สอดคล้องกับโมดูลอื่นๆ พอทีมงานราชการถูกกดดันมากๆก็เกิดภาวะการเมืองขึ้นและทำให้ไม่มีใครทำงานสนับสนุน พอพ้นหนึ่งปีบริษัท MFEC ก็โดนปรับรายวันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาอีกสามปี คณะวิศวกรที่เป็นเจ้าหน้าที่ของ MFEC นั้นทนความกดดันและ input ลบอันหน้าเบื่อไม่ไหวก็ลาออกและมีคนเข้าใหม่วนเวียนกันถึงห้าชุด MFEC ขาดทุนจากโปรเจ็คนี้หลายล้านบาททั้งจากค่าปรับและ Manday ของวิศวกรเงินเดือนเฉลี่ยสี่หมื่นบาทที่ต้องจ่ายเป็นเวลาสี่ปี…ส่วนเคสที่เกิดกับผมก็มีเช่นกัน เช่นเวลาเราจะต้องไปลงโปรแกรมหรือยุ่งกับ Server ของหน่วยงาน IT หน่วยงาน IT มักจะดำเนินการให้เราได้ช้าเสมอหรือแม้แต่หาเรื่องไม่ดำเนินงานครับเพราะเค้าเป็นหน่วยงาน Support ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ บางทีเราขออะไรก็ยากโดยมักจะให้เหตผลด้าน Security

อีกประการก็คือ ข้าราชการส่วนใหญ่นั้นเงินเดือนน้อยครับ ถ้าช้าราชการเงินเดือน 10,000 บาทแต่ต้องมาทำงานที่มีความรับผิดชอบระดับที่ทำให้ติดคุกได้ง่ายๆในอนาคต มันมีบางอย่างในช่วงของการตัดสินใจที่ไม่คุ้มความเสี่ยงของเค้าเช่นกัน ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจ หรือต้องมีอะไรบางอย่างทดแทน,รับประกันจึงจะตัดสินใจได้

ความเสี่ยงด้านการเมือง

อันนี้ก็เห็นได้ง่ายจากโพส “ทำเว็บรัฐบาล”ทุกๆตอนที่ผ่านมาของผมครับ ก็คือถ้าคุณทำงานให้สำนักนายกฯ แล้วเกิดมีเหตการณ์ยุบสภา หรือรัฐมนตรีที่สั่งให้คุณทำงานลาออกไปหรือการตรวจสอบจากฝ่ายค้านหรือทำเนียบโดนยึดแล้วฝ่ายบัญชีเข้าไปเดินเรื่องเงินไม่ได้ฯลฯ แน่นอนว่าต้องกระทบกับการรับเงินของคุณไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นอกจากนั้นความเสี่ยงนี้ยังรวมถึง conflict ระหว่าง function กับ position คนทำงาน ด้วยซึ่งมีสองแบบครับ คือหนึ่ง ถ้าระบบสามารถทำงานแทนคนๆนึงได้อย่างสมบูรณ์คนๆนั้นก็ควรจะต้องเปลี่ยน Job Description น่ะสิ และสอง ถ้าระบบทำให้อะไรๆโปร่งใส วัดผลได้ง่ายขึ้นผู้ที่“ไม่มีความต้องการการโปร่งใส”ก็จะไม่ยอมร่วมมือในการทำงานให้เสร็จแน่นอนครับ

อีกประเด็นคือการเมืองภายในขององค์กร สมมติว่าฝ่ายที่สั่งคุณทำโปรเจ็ค ไม่ถูกกับฝ่ายที่ตรวจรับ แน่นอนว่าหายนะแน่ๆเหมือนกันครับ (ถ้าเป็นเว็บ ฝ่ายที่ตรวจรับมักมีฝ่าย IT ด้วย) ผมกำลังเกิดปัญหาตอนนี้เลย

ความเสี่ยงจากการทำสัญญาเสร็จช้าและการรับเงินช้า

มีโปรเจ็คของผมโปรเจ็คหนึ่งที่กำลังทำอยู่ตอนนี้เป็นของธนาคารรัฐบาล ราคาสามล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการหกเดือนโดนเร่งทุกวัน ขณะนี้ทำงานมาสี่เดือนกว่าแล้ว ออกแบบไปทั้งหมด 13 Revision แล้ว -_-” แต่ทว่าสัญญายังไม่ออกครับ ! เพราะสัญญานั้นต้องวนกันเซ็นหลายฝ่าย ทั้งฝ่าย IT ฝ่าย Product เจ้าของเว็บ ฝ่ายสัญญา ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบริหาร ฝ่ายจัดซื้อ บางฝ่ายกว่าจะเซ็นได้ใช้เวลาถึงหนึ่งเดือน และถ้ามีปรับแก้แม้แต่จุดเดียวก็ต้องวนลูปใหม่อีกหนึ่งรอบ แน่นอนว่าพอสัญญาไม่ออก ผมก็ยังไม่ได้เป็นผู้รับจ้างในเชิงกฎหมาย และเงินงวดไหนๆก็อย่าหวังว่าจะได้เลย บางทีเงินงวดแรก(จากทั้งหมดสี่งวด)น่าจะออกหลังโปรเจ็คเสร็จไปแล้วด้วยครับ ว่าแต่ สัญญาจะเสร็จทันโปรเจ็คจบหรือเปล่านะ? และถ้าผมจะทำเรื่องขอเสร็จช้าเพื่อที่จะไม่ให้ถูกปรับ เรื่องจะทำเสร็จทันผมโดนปรับหรือเปล่านะ ? พวกนี้ถ้าคุณทำบริษัทก็เป็นต้นทุนทั้งนั้น ลองนึกสภาพคุณทำงานมาแล้ว6เดือนโดยยังไม่ได้รับเงินเดือนดูก็ได้ครับว่าจะเกิดต้นทุนอะไรขึ้นบ้าง

ความเสี่ยงด้านการขี่ช้างจับตั๊กแตน

อันนี้ไม่แน่ใจว่าเกิดจากความ”ไม่รู้”หรือ”เต็มใจไม่รู้” รัฐบาลมักมองโปรเจ็คที่ความสมบูรณ์แบบ Requirement หรูหรามากกว่าโปรเจ็คที่ plactical และใช้งานได้เร็วครับ อย่างเช่นเว็บช่วยชาตินั้นบางทีในอนาคตจะต้องมีฐานข้อมูลของประชาชนทุกคนว่าได้รับการสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษกิจต่างๆไปกี่เปอร์เซ็นแล้วซึ่งจะทำให้โครงการใหญ่ขึ้นมากและใช้เวลาในการดำเนินการนาน(บางทีนานกว่าอายุรัฐบาลซะอีก) ส่วนตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือ Spec ของ Server ครับ Server ของเว็บรัฐบาลนั้นแทบทั้งหมดเป็น Server ระดับเทพพพพที่แพงงงงงมากกก และใหม่แบบแกะกล่องหนึ่งตัวต่อหนึ่งเว็บ (ถ้าหนึ่งตัวมีหลายเว็บจะมีปัญหาเรื่องการอ้างความรับผิดชอบตามมา) แต่ server พวกนั้นก็จะอยู่ในส่วนของ IT ที่มี Facilities ไม่เท่าผู้ให้บริการ server ภายนอก อยู่ดี server ระดับเทพเหล่านี้แต่ละตัว Run เว็บที่มีผู้เข้าชมเพียงหลักพันคนต่อวันเท่านั้น แต่อย่าถามถึงราคา Server กับ Environment ของเว็บสรรพากรนะ ! และอีกประการหนึ่งคือ ไม่ว่า Nectec ที่เป็นหน่วยงานราชการจะจัดแคมเปญสนับสนุน Opensource เพียงไร แต่ Server รัฐบาลแทบทั้งหมดก็ยังใช้ Windows อยู่ดี (ขอให้ลง Linux ยังไม่ให้เลยครับ ทำให้เกิด Cost ด้าน Config เพิ่มขึ้นมาก)

ข้อควรรู้ในการจบงานแต่ละเฟส

ในแต่ละเฟสของการทำงานเมื่อทำงานเสร็จ จะมีคณะเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้เป็นผู้ร่างสัญญาและ RFP (Request for proposal)เป็นผู้ตรวจสอบงาน บางครั้งอาจจ้างบริษัทข้างนอก Third party เป็นผู้ตรวจสอบงานให้ด้วย ดังนั้นกุญแจจะอยู่ที่เราเตรียมเอกสารสำหรับรับรองงานโดยจะต้องแต่ละหัวข้อของการ Approve จะต้องมีการ Complied กับ RFP และ/หรือ TOR ให้เรียบร้อยแล้วด้วยเป็นข้อต่อข้อเลยและเอกสารดังกล่าวต้องได้รับการยอมรับจากลูกค้าแล้ว ในบางครั้งจะมีการ UAT จากพนักงานของลูกค้าที่เป็นระดับปฎิบัติการ(User Acceptance Testing) ก็ต้องมีการทำเอกสาร UAT ที่ Complied แล้วเตรียมไว้ให้เช่นกันครับ โดยปกติแล้วเราควรจะรู้ว่าใครจะเป็นผู้ Approve งานบ้างตั้งแต่ต้นโปรเจ็คเลยโดยการสอบถามก็ได้ครับ และต้องระวังคำว่า “อะไรประมาณเนี้ยครับ/ค่ะ” ให้ดี เพราะมีคำนี้ตรงไหน ภายหลังจะมีปัญหาตรงนั้นครับ

มุมมองด้าน Corruption

คอรัปชั่น ในแง่มุมของ Wikipedia นั้นมีหลายอย่าง แต่สำหรับการทำงานเพื่อสังคม การคอรัปชั่นคือสำหรับผมง่ายๆก็คือ “การเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มน้อย แต่ทำให้สังคมหรือคนกลุ่มที่ใหญ่กว่าต้องเสียผลประโยชน์หรือได้รับผลประโยชน์ไม่เพียงพอกับที่กำหนดไว้ในครั้งแรก”
แน่นอนว่า Corruption เป็นสิ่งที่ผิดทั้งด้านสังคมและกฎหมายรวมทั้งทีมงานของเราพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอดเพราะรู้สึกว่าการทำงานราชการโดยไม่คอรัปชั่นมันเท่กว่า (คุณเม่นบอกว่าถ้าเราทำงานที่มีใต้โต๊ะนั้นจะทำให้พบแต่คนแย่ๆเพราะรับ input ที่ไม่ดี) แต่ผมอยากจะทิ้งประเด็นไว้ให้ถกกันในทางปฎิบัติกับวงการทำงานในราชการไทย (ความจริงผมเองก็เจ็บตัวจากการทำงานแบบขาวสะอาดมาบ้างเหมือนกัน)

1. สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความยืดหยุ่นต่อคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆอยู่มาก เรามีคำว่า “ส่งส่วย” ตั้งแต่โบราณ เรานิยมซื้อของฝากให้กับคนที่มีความเกี่ยวข้องกันทางสังคมมาช้านาน เรามีโสเภณี เรามีซีดีเถื่อน เรามีเขตปกครองพิเศษพัทยา ลองอ่านปัญหาการคอรัปชั่นของสังคมไทยโดย ปีดิเทพ อยู่ยืนยง จะเห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่นให้ได้ ต้องแก้ปัญหาที่ลิสต์มาถึง 176 ข้อให้ได้ก่อน หรือผู้สนใจจะดูบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับคอรัปชั่นที่ผมเซิร์ทไว้ให้ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลองค้นคว้าและคุยกันได้ครับ

2.ถ้าคอรัปชั่นในวงราชการและสังคมเป็นสิ่งที่ทำให้คนทำงานมากขึ้นจริงๆ การมีคอรัปชั่นเยอะภายได้ความกดดันจากการตรวจสอบน่าจะเป็น Indicator ชี้วัดความเจริญทางวัตถุของประเทศมากกว่าจริงหรือไม่ ? สมการง่ายๆคือ ไม่คอรัปชั่น > ไม่ทำงาน > ไม่เจริญ VS คอรัปชั่น > ทำงาน > เจริญ ตัวอย่างคือ จะมีข้าราชการที่เงินเดือน 10,000 บาทกี่คนจะกล้าฟันธงว่าโปรเจ็คราคาแพงอันนี้(ที่ตนเองก็ไม่ค่อยรู้เทคนิค) มันใด้ตาม requirement และสมควรจบใน phase ต่างๆได้แล้วหรือควรมีแนวทางการทำงานอย่างไรต่อไป มีอะไรทดแทนความเสี่ยงจากการตัดสินใจของเขาหรือไม่ ? ถ้ามีประเด็นก็คุยกันได้ครับ

3.จากข้อความที่ว่าของผมที่ว่าการคอรัปชั่นคือ “การเอื้อประโยชน์แก่คนกลุ่มน้อย แต่ทำให้สังคมหรือคนกลุ่มที่ใหญ่กว่าต้องเสียผลประโยชน์หรือได้รับผลประโยชน์ไม่เพียงพอกับที่กำหนดไว้ในครั้งแรก” คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความนี้

ถ้าไม่เห็นด้วยผมอยากเห็นมุมมองอื่นๆในการสรุปให้เข้าประเด็นการทำงานกับราชการด้วยครับ 🙂

แต่ถ้าเห็นด้วย ลองดูความจริงบางประการที่ว่ามูลค่าภาพรวมของโครงการเมื่อหักลบกับการคอรัปชั่นนั้น ไม่จำเป็นที่ว่าโครงการที่ไม่มีการคอรัปชั่นจะมีมูลค่า (Value) ต่ำกว่าโครงการที่มีการคอรัปชั่นเสมอไป บางครั้งทำให้สามารถทำงานถูกได้ดีกว่าเสร็จเร็วและคุณภาพดีกว่าก็เป็นได้ เพราะว่า คนอาจจะตั้งใจทำงานมากขึ้น คนมีความเป็นทีมมากขึ้นเพราะได้รับผลประโยชน์ มีทิศทางการทำงานให้เสร็จและมุ่งไปทาง Objective มากกว่า ตัวอย่างคือ

โครงการทำเว็บที่ไม่มีใต้โต๊ะอาจลากยาวไปสองสามปี รัฐบาลเสียเวลาคนดูแลไปหนึ่งล้านบาท เพราะยืดเยื้อ และโปรเจ็คนั้นราคาสิบล้านบาท แต่โครงการลักษณะเดียวกันแต่มีใต้โต๊ะทำเสร็จในหกเดือน รัฐบาลเสียเวลาคนดูแลไปเพียง สองแสนบาท และโปรเจ็คอาจมีราคาเหลือเพียง หนึ่งล้านบาท ผมเชื่อว่ามีเคสนี้เกิดขึ้นบ้างแน่ๆครับ 😛

4. ถ้าเราเปลี่ยนจากการคำว่า Corruption เป็น Commission โดยมีกฎหมายกำหนดอัตราส่วนชัดเจนต่อโครงการ น่าจะส่งผลอย่างไรต่อประเทศไทย ลองเสวนาได้นะครับ สำหรับผมว่าดีกว่านะ ชัดเจนว่าได้ก็เลยทำงาน

5.แง่มุมของ Corruption ที่รับไม่ได้นั้นมีมากมายและถูกขยายออกมาจนใหญ่มาก คณะทีมงานรัฐบาลที่ผมทำงานด้วยใช้เวลาหลายส่วนกับขั้นตอนการทำงานหลายอย่างเพื่อพิสูจน์ว่าการทำงานแต่ละขั้นโปร่งใสปราศจากการคอรัปชั่น และบางครั้ง manday จากการทำงานผ่านขั้นตอนหลายๆอย่างเหล่านั้นกินต้นทุนไปมากกว่าการคอรัปชั่นเสียอีก

6.Security อันสุดยอดลงทุนไปนับไม่ถ้วนของระบบ bank ต่างๆเป็นความจริงที่ว่าไม่สามารถทำให้ปลอดภัยได้ 100% อยู่ดีเพราะผู้ที่ถือกุญแจระบบนั้นก็เป็นคนธรรมดาที่มีสิทธิคอรัปชันได้นั่นเอง (ตอนนี้โปรเจ็คแบ๊งค์ที่ทำอยู่ ต้นทุนหนึ่งในสามน่าจะมาจากเรื่อง Security ทีเดียวครับ)

7. อาจจะมีผู้ที่แย้งว่าคนที่ทำงานด้วยอุดมการณ์ไง ทำงานได้ดีและไม่มีคอรัปชั่น แต่เสียดายที่เท่าที่ผมทำงานมายังไม่เห็นคนมีอุดมการณ์ 100% เพื่อชาติครับ ส่วนใหญ่จะมอดลงภายในหนึ่งปีหลังทำงานการเมืองทั้งสิ้น เพราะคำว่า”ชาติ”ที่เค้าเห็นเบื้องหลังการเมืองนั้นมันซับซ้อนกว่าที่เค้าคิดในครั้งแรกอยู่มากมายเหลือเกิน ยกตัวอย่างคือเอาแค่คนในรัฐบาลเห็น”พวกเสื้อแดง” นั้นเป็นชาติเดียวกับเราหรือไม่ ?!?


ตลกร้ายก่อนจบ

เรื่องที่หนึ่ง

บริษัท iDo iDea ที่ผมเป็นกรรมการอยู่เคย Design ตัวมนุษย์ Super XXX ให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง เพื่อใช้เป็นตัวแทนภายในแสดงถึงบุคลิกภาพใหม่ของคนในรัฐวิสาหกิจนั้น จากนั้นจึงมีการประชุมภายในกับคณะทำงานพร้อมด้วยผู้ใหญ่หลายฝ่ายห้าครั้งเกี่ยวกับ Animation และ Presentation ของ Super XXX ตัวนี้ ที่ประชุมซึ่งมีจำนวนผู้เข้าประชุมเฉลี่ย สิบห้าคน ใช้เวลาประชุมถึง สามในห้าครั้ง (ในระยะเวลาสองเดือน)เพื่อสรุปขนาดของ “เป้ากางเกง” ของตัว Super XXX ตัวนี้ บางคนบอกว่ามันเล็กไป เห็นชัดไป ใหญ่ไป บางคนบอกว่าถ้าไม่เห็นเป้าก็เป็นตุ๊ดน่ะสิ ไม่แมน ฯลฯ ไม่มีใครพูดถึงเนื้อหาของตัว Presentation หรือ จุดประสงค์ของการทำงานนี้เลย…

มนุษย์ SUPER-XXX หลังจากปรับแก้ขนาดของเป้าและสีเนื้อผ้าเป็น Revision ที่ 7
มนุษย์ SUPER-XXX หลังจากปรับแก้ขนาดของเป้าและสีเนื้อผ้าเป็น Revision ที่ 7

เรื่องที่สองคุณเม่นร่วมปรึกษากับผมว่าจะรับงานดีไซน์เว็บราชการแห่งหนึ่งของรัฐบาลเนี่ย คิดเงินเท่าไหร่ดี

?ถ้าดีไซน์เสร็จ ได้ตังค์เลย ก็ 15,000 ก็ได้นะ?
? คือว่า อยากให้เข้าเป็น Account TiGER ว่ารับงานนี้ด้วยน่ะ ให้ TiGER เป็นคนเสนอและรับงานเองเลย เท่าไหร่ ?”
??อืม..งั้น 700,000 ละกัน?
???

“… ถูกไปหรอ ? …”