นักดนตรีอาชีพในไทย

“อย่าไปเป็นนักดนตรีอาชีพเลยนะลูก อาชีพนี้มันเต้นกินรำกิน”

คำพังเพยโบราณว่า เต้นกินรำกิน อันเป็นการดูแคลนนักแสดงทางด้านศิลปะ?รวมทั้งนักดนตรี ผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามาจากที่ใด แต่จากประสบการณ์ อาชีพนี้มีเกียรติ,ใช้สมองแน่นอนครับและใช้เยอะมากด้วย ลองดู บล็อก Plajazz การทำงานของสมอง และการเล่นดนตรี

นักดนตรีเก่งๆต่างประเทศความจริงจัดได้ว่าเป็นอัจฉริยะทุกคนครับ และด้วยความที่เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ถึงแม้จะสนใจดนตรีกันมากขึ้นแต่กลับไม่ได้ใส่ใจฝึกฝนจนเก่งเพราะสิ่งแวดล้อมหลายๆอย่างมารบกวน ทำให้ผมคิดว่าในอนาคตนักดนตรีคุณภาพน่าจะมีน้อยลงทุกที อาชีพนี้จึงจะกลายเป็นอาชีพขาดแคลนที่รายได้สูงไม่ยากครับ

คุณพ่อคุณแม่อาจเคยเห็นงานวิจัยหลายอย่างเรื่องการให้ลูกไปเรียนดนตรีแล้วจะดีอย่างงั้นอย่างงี้ ผมขอสนับสนุนครับสำหรับการส่งลูกเรียนดนตรีเพื่อให้ลูกเล่นดนตรีเพื่อความเพลิดเพลิน เค้าจะได้อะไรกับวิธีคิดเยอะมากกว่าแค่การเล่นดนตรีเป็นครับ

อย่างไรก็ตามสำหรับอุปสรรคของพ่อแม่ที่คิดจะส่งลูกหรือสนับสนุนให้ลูกเรียนดนตรีเพื่อใช้ประกอบอาชีพในอนาคตก็คือ บางครั้งลูกอาจมีความเป็นศิลปินออกมาในเวลาที่ไม่เหมาะสม และอาจเกิดความเสี่ยงยกตัวอย่างเช่นบางครั้งจะเกิดอาการไม่อยากเรียนหนังสือขึ้นมา หรือถ้าได้รับการประทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงก็จะออกนอกลูกนอกทางก็เป็นได้ แม้แต่ผมเองยังมีช่วงที่คิดจะเลิกเรียนหนังสือเลยครับ 😛 ยังดีที่คุณแม่ดูแลดีนะเนี่ย

ความแตกต่างของคำว่า นักดนตรี และศิลปิน

เบื้องหน้า กล้องส่อง คือศิลปิน เบื้องหลังคือนักดนตรี
เบื้องหน้า กล้องส่อง คือศิลปิน เบื้องหลังคือนักดนตรี

ศิลปิน

บางคนคิดว่า นักดนตรีจะต้องเป็นศิลปินทุกคน ไม่ใช่นะครับ ศิลปินคือผู้ที่ใช้อารมณ์และจินตนาการในการสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย ขึ้นมาบนโลกใบนี้ ศิลปินที่ได้รับการยอมรับก็จะมีระดับของกลุ่มคนที่ยอมรับด้วยครับ ศิลปินที่สร้างผลงาน Mass ได้สำเร็จก็จะมีคนยอมรับมากแต่ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะเก่งกว่าศิลปินที่มีคนยอมรับน้อยกว่า และศิลปะนั้นไม่สามารถวัด”ระดับความเหนือกว่ากัน”ได้เนื่องจากเป็นเรื่องของรสนิยม มีเพียงศิลปะในแง่มุมที่ลึกและไม่ลึกเท่านั้น ในแง่มุมของผม ศิลปินคือคนที่ดูแลจิตใจเฉพาะด้านของตน ( Self- Center ) เพื่อที่จะสร้างสิ่งต่างๆสู่สังคม ศิลปินส่วนใหญ่นั้นจึงมักจะเหมาะสมในการทำงานเดี่ยว

ตัวอย่างมือเปียโนที่เล่นในโบสต์นั้นจะมีความเป็นนักดนตรีเข้มข้นกว่าความเป็นศิลปิน
ตัวอย่างมือเปียโนที่เล่นในโบสต์นั้นจะมีความเป็นนักดนตรีเข้มข้นกว่าความเป็นศิลปิน

นักดนตรี

ส่วนนักดนตรีก็คือผู้ที่เล่นดนตรี นักดนตรีที่ดีคือผู้ที่เล่นได้ตอบโจทย์ต่อสภาวะแวดล้อมและกาลเทศะในขณะนั้นได้ดี นักดนตรีที่เป็นพนักงานประจำก็มี และต้องเล่นดนตรีให้ดีด้วยความตั้งใจไม่เล่นตามในฉันในที่ๆที่ไม่อำนวย นักดนตรีที่เก่งนั้นสามารถที่จะ”วัดได้”เป็นสไตล์ๆไปครับอย่างน้อยทุกคนจะต้องมีพื้นฐานวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่ง และต่อยอดออกไปตามแบบฉบับของตนเอง ในแง่มุมของผม นักดนตรีนั้นจะต้องดูแลจิตใจของคนอื่น ที่สมาชิกในวง ผู้ชม คนจ่ายเงิน รวมไปถึง ตัวศิลปินที่เค้ากำลังเล่น Support ด้วยครับ

แน่นอนว่า นักดนตรีที่เป็นศิลปินนั้นก็มีเช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับช่างภาพ หรือแม้แต่โปรแกรมเมอร์ ก็มีผู้ที่มีความเป็นศิลปินฝังอยู่ในตัวเช่นกัน แต่จะมากหรือน้อยและมีสังคมที่ยอมรับหรือชื่นชอบหรือเปล่าก็เท่านั้นเองครับ ตัวอย่างเช่นถ้าคุณเล่นดนตรีที่โรงเบียร์เยอรมันฯ คิวเพลงต้องเป็นอย่างนี้ๆ แต่คุณเกิดใช้ความเป็นศิลปินไม่ยอมเล่นตามคิวแน่นอนว่าคุณจะเสียความเป็นมืออาชีพถ้าจังหวะที่แสดงความเป็นศิลปินไม่ถูกกาลเทศะออกมา

นอกจากนี้ คนที่มีความสามารถสูงมากๆ มักสามารถใช้ความเป็นศิลปินได้มากกว่า เพราะสังคมนั้นยอมรับและ trade off ความเป็นศิลปินของเค้าได้ครับ เช่นอดีต พนง ไทเกอร์ไอเดียคนหนึ่งทำงาน CG ได้เยี่ยมยอดมากๆ แต่บางทีสั่งงานไปหนึ่งอาทิตย์ใช้เวลาอยู่เฉยๆ 6 วันและทำงานจริงเพียงวันเดียว แต่งานก็ออกมาดีมาก เราก็ยอมรับได้ ส่วนคนไม่เก่งที่เป็นศิลปินก็มีแต่เราไม่ได้สังเกตเห็นเค้าเท่านั้นเอง

เป็นศิลปินหรือนักดนตรีดี ?

สำหรับคำแนะนำของผม ? ยุคนี้ Model Business นั้นไม่ค่อย Support ศิลปินแล้วครับ ศิลปินมีขึ้นมีลงและดูเหมือนจะล้นตลาดจนไม่รู้ว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอม ดังนั้นเป็นนักดนตรีที่ดีให้ได้ก่อนแล้วค่อยเลือกส่วนผสมของศิลปินเข้าไปเถิด เพราะทักษะทางดนตรีคือความสามารถที่จะอยู่กับคุณไปจนตาย และถ้าคุณอยากสังกัดค่ายเพลงเพื่อเป็นศิลปินและต้องการจะรวยล่ะก็ มันหมดยุคแล้วครับ แถมการเป็นศิลปินในสังกัดจะทำให้คุณไม่ได้เล่นดนตรีในอย่างที่ชอบไปอีกหลายปีจนกว่าจะหมดสัญญา 🙂 ประสบการณ์ตรงของผมคือปลายปีศิลปินล้นตลาดแต่นักดนตรีนั้นกลับขาดแคลนซะแล้ว

ตัวอย่างของวงดนตรีที่มีส่วนผสมทาง ฝีมือดนตรี จะมีงานเล่นตลอด ไม่ว่าจะเล่นให้ตัวเองหรือเล่นให้กับคนอื่น เช่น Jetset’er ,Crescendo, ETC.

ทักษะทางด้านดนตรีที่ต้องพัฒนา

1. ฝีมือด้านการเล่นเครื่องดนตรี ( Musical Skill)

แปลตรงตัวเลยครับ คือยิ่งเล่นเก่งยิ่งดีนั่นแหละ อันนี้ได้มาจากการ ซ้อมๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ทักษะนี้ควบรวมถึงทุกอย่างที่คนที่เคยสอบเปียโนจะรู้จักครับ ทั้งทางหู ( Hearing ฟังแล้วเล่นเลย อันนี้ผมทำได้ค่อนข้างดี ) ทางตา (Sight Reading อ่านโน้ตแล้วเล่นเลย อันนี้ผมแย่มาก) และทางกล้ามเนื้อ ( ขึ้นกับการซ้อมและความสม่ำเสมอในการเล่นและการท้าทายตนเองระหว่างเล่น )

2. ทักษะด้านการแสดง ( Perfomance Skill )

อันนี้เป็นทักษะที่ไม่มีสอนในบทเรียน อย่าลืมว่าคนฟังดนตรีทั่วไปนั้นไม่มีความรู้ทางดนตรีเท่าไหร่ครับ อาจจะลองจินตนาการว่าเราเล่นให้เด็กอนุบาลฟังก็เป็นได้ บางครั้งการเล่นโน้ตยากๆคนฟังไม่รู้แต่ถ้าทำหน้าตาประกอบไปด้วย อันนี้รู้แน่นอน เช่นมือกีต้าร์แจ๊สบางคนต้องทำหน้าปวดอึเวลาโซโล่เป็นต้น นอกจากหน้าตาแล้วบางคนก็มีท่าทางที่ทำให้คนสื่อถึงจังหวะได้ชัดเจนขึ้น บางคนใช้ความนิ่งเป็น Performance ก็มีนะครับ นอกจากนั้น Performance Skill ยังควบรวมไปถึงการเล่นดนตรีในโน้ตที่ถูกต้องอย่างถูกกาลเทศะด้วย ไม่จำเป็นต้องเล่นยากมาก เพียงเล่นให้เข้าใจง่ายๆก็เพียงพอ แต่การออกเสียงทุกเสียงจากเครื่องดนตรีต้องมีคุณภาพและความมั่นใจ ผมอยากเสริมว่าถ้านักดนตรีคนนั้นๆเป็นคนทะลึ่ง จะทำให้ Performance ดีขึ้นอีกมากครับ

ปล. iHearband เป็นวงที่เน้น Performance เป็นหลัก ส่วนฝีมือนั้นเป็นรอง 😛

เส้นทางของนักดนตรีอาชีพ ในไทย

กลุ่มเพื่อนที่เล่นดนตรีด้วยกันนั้น ถ้าจะอยู่ได้อย่างสบายจะมีเส้นทางให้ก้าวไปได้สองทางที่ผมเห็นนะครับ เพราะ วงที่เล่นประจำนั้นส่วนใหญ่ได้เงินไม่มาก ยกเว้น House Band ที่เป็นวงหุ้นส่วนร้านอาจรวยได้แต่ก็มีจำนวนน้อยมากจึงไม่นับ ไม่ว่าวงการเพลงหรือเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โลกก็ยังต้องการดนตรีครับนักดนตรีกลุ่มนี้จึงสามารถอยู่ได้ ในขณะที่ศิลปินหรือค่ายเพลงอาจอยู่ไม่ได้ และอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อนักดนตรีบางประเภทด้วย เช่นนักดนตรีแจ๊สและคลาสสิคยิ่งแก่ยิ่งเก๋า เป็นต้น

1.เป็นนักดนตรี Back Up ศิลปินและนักดนตรีห้องอัด

นักดนตรีกลุ่มนี้ต้องทำงานอย่างมีความรับผิดชอบสูงทีเดียวเพราะเป็นการเล่นดนตรีเพื่อคนอื่น บางครั้งสัดส่วนของการเป็นศิลปินนั้นยังค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆเช่นกัน คุณสมบัติของนักดนตรีที่ดีคือคุณสมบัติเดียวกับการเป็น Freelance ที่ดี นั่นคือความสามารถคงเส้นคงวา รู้จักคนเยอะ เข้ากับคนอื่นได้ดี มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา Add up Value ด้วยทักษะเฉพาะด้านที่ดี สิ่งที่ยากมากของการเป็นนักดนตรีที่ดีอยู่ที่การควบคุมความเป็นศิลปินในตนเองนั่นเอง

ตัวอย่างคือ อย่างน้อยการทำงานร่วมกับผู้อื่นในวงจะต้องทำลาย EGO ของตนลงหลายส่วนก่อนด้วยครับ ส่วนในด้านความสามารถบอกได้ว่าเก่งถึงระดับหนึ่งนั้นเพียงพอแล้วเพราะเพลงที่มีอยู่ในไทยทั้งหมดไม่ได้ต้องการความสามารถนักดนตรีระดับเทพขนาดนั้น แต่ต้องการความสามารถในการทำงานเป็นทีมมากกว่าและความสามารถนี้เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าหายากที่สุดในหมู่นักดนตรี นั่นเพราะสังคมไทยที่มีความเข้าใจในหน้าที่ตนเองต่ำ เป็นเหตุนั่นเองครับ

สำหรับเส้นทางในการเป็นนักดนตรี back Up นั้นสามารถพัฒนาไปถึงการเป็น Producer หรือ Show Director/Manager ด้วยเช่นกัน เช่นเวลามีคอนเสิร์ตที่มีหลายช่วง ทาง Executive Producer อาจให้เงินนักดนตรีที่มีประสบการณ์มากๆคนหนึ่งมาบริหารเลือกเพลงสำหรับซ้อมและจ่ายเงินต่อให้นักดนตรีคนอื่นๆที่ตนจัดสรรมา และนักดนตรีห้องอัดจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องอุปกรณ์อยู่บ้าง เป็นคนฟังเพลงเยอะและสามารถเล่นดนตรีเพื่อตอบโจทย์ศิลปินได้ในเวลาที่กำหนด มีความเข้าใจองค์ประกอบของเพลงในเครื่องดนตรีทุกชี้นครับ

เนื่องจากวงการดนตรีตกต่ำลงดังนั้นนักดนตรีห้องอัดอาจมีจำนวนลดลงก็เป็นได้เพราะ Model Business อาจมีวันที่จะถึงจุดที่ไม่คุ้มต่อการจ้างนักดนตรีมาอัดเพลงก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม การโชว์ยังต้องมีอยู่ครับ

การพัฒนาสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพสาขานี้

พัฒนาทักษะให้ถึงพร้อม โดยเฉพาะเรื่องทักษะทางการฟังแบบ Relative มีความเข้าใจในคอร์ดพื้นฐาน ฟังแล้วเล่นได้และการควบคุมลักษณะเสียงมืด-สว่าง ไม่ว่าจะเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใดควรหัดเปียโนเล็กน้อยและอาจฝึก Percussion พอเข้าใจ ( นักดนตรีเก่งๆจะเล่นเปียโนเป็นกันแทบทุกคน เพราะมันเป็น Basic ในด้านความเข้าใจทาง Harmony ) หมั่นหาประสบการณ์ด้วยการไปดูนักดนตรีเล่นตามผับชื่อดัง มีความชอบและเข้าใจเพลงทุกแนว

การฝึกเข้าสังคมทั้งขณะเล่นโดยเล่นให้คนอื่นๆบนเวทีพอใจ และเข้าสังคมนักดนตรีนอกเวทีก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน ควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพราะอย่างไรเราก็ไม่ได้เก่งที่สุดในโลก ไม่เกี่ยงงานได้เงินเยอะหรือน้อยถ้ามีเวลาควรไปฝึกฝนหาประสบการณ์บนเวทีจริงบ่อยๆ หลีกเลี่ยงเรื่องทางการเมืองของวงการ ( ซึ่งมีทุกวงการ ) เราใช้ฝีมือและลอยตัว เล่นกับทุกคนที่ได้เงินและแฮปปี้จะดีกว่าครับ

นักดนตรีในกลุ่มนี้มักจะอยู่กันอย่างเป็นอิสระ ไม่ได้จับกันเป็นวง หรืออาจจับเป็นกลุ่มหลวมๆ แต่ละคนควรมีแนวทางของตนเองชัดเจนครับ เช่นมือกลองบางคนตีน้อยแต่ชัดและมีสำเนียงต่างประเทศ (เน ลิปตา) บางคนตีรายละเอียดเยอะฟังแล้วเพลงมีลูกเล่นสนุกดี (เอ็ดดี้ เจ็ทเซ็ทเตอร์) บางคนตีมีวิธีคิดในเรื่อง Dynamics ที่น่าสนใจ ( เล็ก ไอเฮียร์ ) บางคนตีออกร็อคดี บางคนตี all round เพลงเก่าและลูกทุ่งดี ( เกียวปิ ไอเฮียร์ ) บางคนตีงาน Unplug ดี (โท เวเคชั่น) เป็นต้น มือคีย์บอร์ดเองก็มีสไตล์ของแต่ละคน อย่างผมจะเป็นสายมือเปียโนเล่นแน่นที่วงน้อยชิ้นชอบ หรือคุณ กุ๊ก จะเป็นสาย Syn แต่อย่างน้อยทุกคนก็สามารถแทนกันได้หมดเพราะเบสิคพร้อม เวลาเล่นก็จะสนุกเพราะได้เล่นที่ใหม่ๆกับศิลปินใหม่ๆสะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ

รายได้ของนักดนตรีในกลุ่มนี้

ผมเป็นนักดนตรีในกลุ่มนี้อยู่บ้าง โดยรับงานไม่ได้ Full Time นักเพราะว่ามีงานของ TiGERiDEA ด้วยนั่นเอง แต่ถ้าพิจารณาเพื่อนๆผมทุกคนที่เป็นนักดนตรีอาชีพในกลุ่มนี้ถือว่ารายได้ดีมากอยู่แล้วครับ โดยเฉพาะช่วง High Season ปลายปีนั้นรายได้เดือนละมากกว่าแสนทีเดียว ผมยกตัวอย่าง คอนเสิร์ตใหญ่ 1 คอนเสิร์ตนั้น นักดนตรีจะได้เงินประมาณไม่ตำ่กว่า 20,000 บาท ในขณะที่ Event ย่อยๆจะได้ประมาณ 5000 บาท และงานออกต่างจังหวัด จะ + ไปอีกประมาณ 30% และทุกงานที่เป็นศิลปินดังรับเงินเร็วทั้งหมด เพื่อนๆรับถึง 3 คอนเสิร์ตใหญ่และอีเว้นท์ย่อยอีกมากมายอาทิตย์ละหลายอีเว้นท์ บางวันมีงานซ้อน 3 อีเว้นท์ต้องวิ่งรอก น่าแปลกที่เพื่อนๆส่วนใหญ่ในกลุ่มนักดนตรีสาย Back up นั้นไม่ได้เรียนดนตรีโดยตรงมากัน แต่ทุกคนจบอย่างน้อยปริญญาตรีซึ่งอาจมีผลต่อวิธีคิดบางอย่าง

ค่าเล่นดนตรี Concert DeeBoyd ผมเล่นเพียงวันเดียวได้เกือบสามหมื่น (หักภาษีเหลือเท่านี้) แต่เพื่อนในวงที่เล่นหลายเซ็ตกว่าอย่างพี่ตี้ได้สี่หมื่นครับ
ค่าเล่นดนตรี Concert DeeBoyd ผมเล่นเพียงวันเดียวได้เกือบสามหมื่น (หักภาษีเหลือเท่านี้) แต่เพื่อนในวงที่เล่นหลายเซ็ตกว่าอย่างพี่ตี้ได้สี่หมื่นครับ คุณคิดว่าถ้าทำเว็บราคาเท่านี้ต้องใช้เวลากี่วัน 😛

อย่างไรก็ตามเนื่องจากผมต้องการขจัดความเป็น Seasonal ของการเล่นดนตรีออกไปจึงเริ่มจับตลาด วงดนตรีงานแต่งงาน ซึ่งจะกระจายการเล่นออกไปทั้งปี ทำให้ได้รายได้เสริมต่อเดือนเริ่มคงที่เป็นจำนวนหนึ่ง เรียกว่าเป็นนักดนตรีที่สร้างตลาด Niche ด้วยตนเอง

2.นักดนตรีที่มีความเชียวชาญเฉพาะด้านและเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

สำหรับคำว่าเฉพาะด้านนั้นผมจะจำกัดมาเป็นด้าน คลาสสิคและแจ๊ส เลยครับ การพัฒนาการด้านนี้คือการพัฒนาการเล่นดนตรีเพื่อวงการดนตรี ดังนั้นเราจะต้องทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ไปถึงจุดนี้ซึ่งอาจจะต้องทิ้งแนวเพลงทั่วไปเพื่อฝึกแต่แนวที่ตนเองต้องการมุ่งไปเช่นกัน แน่นอนว่าความเสี่ยงเยอะเพราะผู้ที่จะเป็นระดับนี้ได้นั้นมีไม่มากครับ อาจมีเพียง 1 ใน 5 ของประเภทที่ 1 ด้วยซ้ำ และแน่นอนต้องเรียนดนตรีโดยตรงด้วยเพื่อที่จะให้ได้วุฒิเป็นอาจารย์ส่วนหนึ่งและได้มีโอกาสหาความรู้เพิ่มเติมได้มากขึ้นอีกส่วน

ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร.เด่น อยู่ประเสริฐ คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต

ลองดูประวัติอาจารย์เด่น จาก http://www.bangkokjazzlife.com

การพัฒนาสู่การเป็นนักดนตรีอาชีพสาขานี้

การพัฒนาสู่ความเป็นนักดนตรีในส่วนนี้มีหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ซ้อมเพื่อให้เกิดปัญญาและความเข้าใจครับ นอกจากนั้นก็เป็นการศึกษาหาความรู้ทางดนตรี สะสมบารมีในฐานะผู้นำทางวงการแต่ก็อย่าลืมถ่อมตัวเพราะเราไม่ได้เก่งที่สุดในโลกเช่นกัน

รายได้ของนักดนตรีในกลุ่มนี้

โดยมากเงินเดือนของอาจารย์ซึ่งอยู่ในคณะพิเศษอย่าง ดุริยางคศิลป์มักเริ่มต้นที่ 30,000 บาทซึ่งยังไม่ได้รวมค่าตำแหน่ง โดยจะมีรายได้ส่วนเพิ่มอย่างอื่นได้แก่ค่าจิปาถะต่างๆทั้งจากการสอนพิเศษที่บ้าน การแสดงโชว์ใหญ่ๆโดยอาจร่วมกับศิลปินจากต่างประเทศ การได้รับเชิญไปโชว์ในที่ต่างๆซึ่งมักมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่มาก ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงานหรือ WorkShop หรือรับทุนไปศึกษาต่อ การมีเครดิตในการดีลงานดนตรีระดับ International และงานรับเหมาจัดดนตรีในโรงแรมหรือร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks เหนืออื่นใดคือการมีเกียรติและศักดิ์ศรีให้นักเรียนและนักดนตรีคนอื่นๆเกิดแรงบันดาลใจและเป็นที่กล่าวขานถึง

ผมว่าอาจารย์มหาลัยที่สอนดนตรีเป็นส่วนผสมของความเท่ห์ของศิลปิน+นักดนตรีและความเป็นนักวิชาการได้มากกว่าอาจารย์ในสาขาวิชาอื่นอยู่แล้วครับ 🙂 อย่างไรก็ตาม นักดนตรีที่เก่งสุดๆในไทยทางมหาวิทยาลัยก็จะทาบทามมาเป็นอาจารย์ด้วยอยู่ดีครับ หรือไม่ก็ไปเป็นผู้บริหารค่ายดนตรีชื่อดัง (ซึ่งมีจำนวนน้อยและจะลดลงเร่ือยๆ) อ้อ แถมนิดหน่อยตรงมีสิทธิที่จะเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ดนตรีแพงระยับมาประดับมหาวิทยาลัยด้วย 😛

อาจารย์ นุ วุฒิวิชัย ซึ่งผมเคยไปให้อาจารย์ติวเปียโนที่บ้าน 3 ครั้งครับ และมีผลต่อการเล่นเปียโนของผมในระยะหลังมากขึ้นเยอะ
อาจารย์ นุ วุฒิวิชัย ซึ่งผมเคยไปให้อาจารย์ติวเปียโนที่บ้าน 3 ครั้งครับ และมีผลต่อการเล่นเปียโนของผมในระยะหลังมากขึ้นเยอะ