การคิดราคาเว็บ : ว่าด้วยความหมายใน Quotation/เปรียบเว็บกับบ้าน

โพสนี้มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เบื้องต้นในการเสนอราคาของไทเกอร์ไอเดียที่ผมดูแลอยู่ และอธิบายให้บุคคลทั่วไปรวมทั้งลูกค้าที่สนใจทำเว็บเข้าใจง่ายนะครับ สำหรับผู้ที่มีความเก๋าโปรดข้ามการอ่านโพสนี้ได้ครับ 🙂

ปกติใน Quotation หรือใบเสนอราคา?ของ ไทเกอร์ไอเดีย ผมจะแบ่งการเขียนเป็นสองแบบครับ นั่นคือแบบเน้น Task หรือ เน้น Manday

ใบเสนอราคา แบบ Task

80% ของ quotation ของ ไทเกอร์ไอเดียเป็นแบบ Task ซึ่งจะคิดราคาเป็น module ไป บางครั้งก็คิดราคาเหมารวมทั้งเว็บไซต์แยกกันระหว่าง Consulting, Marketing และ Technical ซึ่งเหมาะสำหรับโปรเจ็คที่เว็บไซต์มีสามารถที่จะทำเสร็จได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องการการปรับปรุงโครงสร้างมาก หรือลูกค้ามีภาพในใจและมีความชัดเจนใน Requirement เพียงพอ ในการทำเว็บรีสอร์ทส่วนใหญ่ผมจะออกโควเทชั่นแบบนี้หรือเว็บรัฐบาลทั่วไปที่มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้างก็มักจะต้องคิดเป็นโครงการให้ชัดเจนเช่นกัน ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างบ้านการคิดราคาแบบนี้ก็เปรียบเสมือนการสั่งสร้างบ้านแบบเหมานั่นเอง

โครงสร้างใน quotation แบบ Task ของไทเกอร์ไอเดียหลักๆมักจะประกอบด้วย

1. Creative and Super Vision

หมายถึง มุมมองทางด้านดีไซน์และการกำหนดทิศทางการพัฒนาเว็บไซต์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ส่วนนี้มักเป็นส่วนที่มีราคาแปรผันอย่างมาก ขึ้นกับความชัดเจนของ requirement ของลูกค้าและความยากง่ายในการ Implement ให้เข้าถึง Business model ของลูกค้าครับ การทำงานในเชิงรูปธรรมคือการบอกกับลูกค้าว่า เค้าควรจะได้เว็บออกมาเป็นอย่างไรนั่นเอง เช่นการออกแบบเว็บไซท์ e-commerce อย่าง Digital2home นั้นสำหรับผู้บริโภคในไทยชอบ โปรโมชั่นมาก และชอบความรู้สึกว่ามีสินค้าเยอะ(พูดง่ายๆว่ารก)และสามารถเปรียบเทียบสินค้าได้ จึงออกมาในรูปแบบที่เห็นนั่นเอง และนอกจากนั้นสิ่งที่ลูกค้าไม่ทราบเชิงเทคนิคอย่างเช่นการใช้ระบบ Blog เพื่อเพิ่ม content ที่ Google สนใจ หรือการเลือกระบบ fade รูป(ที่พัฒนาโดยคุณจ๋ง)ซึ่งรูปทุกรูป google จะสามารถเห็นได้(ซึ่งเรื่องนี้ flash ยังทำไม่ได้ดี ) ระบบ catalogue ที่น่าจะเหมาะสมกับเว็บไซต์ ฯลฯ

เว็บไซท์ขายของ ต้องดูเยอะๆและเน้น promotion
เว็บไซต์ขายของ ต้องดูเยอะๆและเน้น promotion

สำหรับราคา super vision นั้นอาจจะ vary ระหว่าง 10,000 บาทคือลูกค้าเป็นผู้รู้ requirement ชัดเจน เว็บไซต์ไม่ใหญ่มากและอาจเป็นผู้จ้างช่วง จนถึงหลักล้านบาท ในกรณีที่ต้องมีการทำงานที่มีความรับผิดชอบสูงหรือเป็นงานเชิงระบบ สำหรับราคา Creative and Super Vision ของเว็บรีสอร์ทและองค์กรทั่วไปจะอยู่ราวๆ 30,000 บาทเนื่องจากการกำหนดทิศทางจะต้องใช้คนทำระดับผู้บริหารนั่นเองครับ ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน แบบนี้คือการจ้างสถาปนิกและผู้รับเหมานั่นเอง ทั้งสองคนจะช่วยคิดว่า จริงๆแล้วคุณเหมาะกับบ้านแบบไหน หรือคุณเหมาะกับตึก หรือโรงงานมากกว่า มีไกด์ไลน์พร้อมกับวางแผนการก่อนสร้างให้ด้วย แน่นอนว่าส่วนนี้ต้องแพงถ้าเราเป็นลูกค้าเป็นคนที่มาแบบ”ไร้ความต้องการที่ชัดเจน” และลูกค้า 80% มักเป็นอย่างนีด้วยเพราะถ้ารู้บ้างมักทำเองในครัวเรือนไปแล้วครับ

2. Data and Art preparation

หมายถึงการผลักดันด้านการเตรียมข้อมูลและการเตรียมงานเชิงศิลป เบื้องหลังการทำเว็บไซท์ที่ลูกค้าแทบทุกคนไม่รู้ก็คือ การทำเว็บไซต์นั่นตัวลูกค้าเองก็ต้องมีความรับผิดชอบด้านการเตรียมข้อมูลด้วยเช่นกัน ซึ่งทางทีมงานผู้จัดทำเว็บไซท์จะต้องมีการวางแผนเพื่อขอข้อมูลและจัดเก็บข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ มีการ revise ข้อมูลอย่างถูกต้อง เช่นเว็บไซท์ขององค์กรโดยทั่วไปในแต่ละหน้าของเว็บจะมีผู้รับผิดชอบในการส่งข้อมูลที่ต่างกันมา อย่างในหน้าเกี่ยวกับองค์กรหรือประวัติการได้รับรางวัลต่างๆก็อาจจะเป็นทาง marketing ส่งข้อมูลให้ หรือในหน้าของผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นในส่วนของ Production ที่ส่งข้อมูลให้ หรือในหน้ารับสมัครงานก็จะเป็นทางฝ่ายบุคคลที่ส่งข้อมูลให้ ในหลายๆครั้งข้อมูลจะถูกโยนมากองรวมกันอย่างไม่มีมาตรฐานหรือ no consistency (เช่น production โยนเอกสารการปฎิบัติงาน ISO9002 ให้ทีมงานขึ้นเว็บในหัวข้อ “มั่นใจกับคุณภาพการผลิตของเรา” )ทำให้ทางทีมงานต้องมาทำการจัดระเบียบงานและตอบคำถามที่ว่า “ผมส่งให้หมดแล้วนะ ทำไมยังไม่ขึ้นเว็บซะที” ส่วนการเตรียมงานเชิงศิลป คือการจัดเตรียมรูปต่างๆสำหรับ banner การตกแต่งรูป การเลือกคู่สีที่เหมาะสมในเว็บไซท์ การทำ tab การรับผิดชอบเรื่องลิขสิทธิ์ต่างๆเช่นรูปและ font ที่ไช้ (อ่าน ฟอนท์ Kittitada และ PSL นั้นราคา 85,000 บาท ! ) การทำปุ่มกดต่างๆ การจัด theme และ layout เว็บไซท์ด้วย photoshop การซื้อรูปที่ถูกลิขสิทธิ์เพื่อใช้กับเว็บไซท์ resort ในขณะที่รีสอร์ทยังสร้างไม่เสร็จ ฯลฯ ถ้าเปรียบเทียบกับการสร้างบ้าน หน่วยนี้จะเป็นคนตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ภายในภายนอกบ้าน และผู้จัดซื้อวัสดุต่างๆนั่นเองครับ

ตัวอย่างภาพที่สื่อให้เห็นอารมณ์ในรีสอร์ทที่ยังสร้างไม่เสร็จ
ตัวอย่างภาพที่สื่อให้เห็นอารมณ์ในรีสอร์ทที่ยังสร้างไม่เสร็จ

3.Open source System Integration

การทำเว็บในสเกลทั่วไปของไทเกอร์ไอเดียนั้น ถ้าไม่ได้เป็นเว็บที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะด้านมากอย่างเว็บไซต์ของธนาคาร เราจะใช้ open source CMS เป็นหลักครับ เนื่องมาจากความได้เปรียบของระบบในหลายๆด้านที่เป็นประโยชน์ทั้งฝั่งลูกค้าและผู้ทำเว็บไซต์นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นความรวดเร็วในการอัพเดทแก้ไขข้อมูล (โดยเฉพาะ creative จะมีนิสัยร่วมกันอย่างหนึ่งนั่นคือชอบสะกดคำสำคัญๆผิด :P), การไม่กองข้อมูลไว้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของคนเพียงคนเดียวเหมือนสมัยก่อนซึ่งเสี่ยงต่อการ”ชิ่ง”ของคนทำเว็บ ,การพัฒนาอย่างต่อเน่ืองของ engine ,Plugin จำนวนมหาศาลที่มีคนคิดขึ้นมาและสุดท้ายก็คือ ความได้เปรียบของระบบการ ping และความที่ระบบสามารถพูดกับ google ได้รู้เรื่องกว่าสมัยก่อนมากมาย ดังนั้นการสร้างเว็บที่มีคนพร่ำบอกว่าให้ใช้ html แบบดั้งเดิมแล้ว google จะชอบนั้นไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้วครับ ถ้าเปรียบเทียบกับบ้าน Open source integration ก็เหมือนการวางโครงสร้างของบ้านพวกเสาคานและบันได แต่คุณสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างได้บ้าง (ทำได้เร็วด้วย) เพราะตัวบ้านเป็นลักษณะประกอบสำเร็จเป็นห้องๆจากไซต์งานข้างนอก(module ที่นักพัฒนาทั่วโลกได้ทำไว้)และยกมาประกอบเป็นบ้านคล้ายๆรางของ BTS นั่นเอง ในกรณีที่คุณอยากจะปรับปรุงเว็บภายหลัง ก็ไม่ต้องไปพังบ้านและให้ช่างที่มีความรู้คนเดิมมาทำ แต่คุณสามารถยกห้องๆใหม่จากข้างนอกมาใส่ที่โครงที่วางเผื่อไว้ได้ทันที

การประยุกต์ใช้ Open Source กับโครงการในกรณีที่ต้องเขียนใหม่จะแพงมากสามารถลดราคาได้มากถ้าโครงการสามารถปรับมาใช้โครงสร้างที่มีอยู่แล้ว ซึ่งผู้ implement อาจต้องอธิบายเปรียบเทียบราคาเช่นกัน

4. HTML coding

การเขียน Code เพิ่มเติมสำหรับเว็บไซท์ให้หน้าต่างๆมีรูปแบบที่สวยงาม เป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้วครับไม่ว่าจะเป็นเว็บสมัยเก่าหรือใหม่ ในการวางโครงด้วย open source ก็ต้องมีการเขียนโค้ดเก็บรายละเอียดด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ต้องการรู้จัก ประวัติของ HTML ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านผมคิดว่าเหมือนสลักหรือตะปูที่ยึดบ้านให้แข็งแรงไม่โยกหรือเหลื่อม และการสร้างสิ่งพิเศษที่ดันไม่มีคนอื่นคิดเตรียมไว้นั่นเอง เช่นอยากทำให้ระเบียงเป็นอ่างอาบน้ำในตัว

5. Hosting

hosting คือที่ฝากไฟล์ของเว็บไซต์ในจุดที่มีช่องทางในการกระจายข้อมูลเว็บไปทั่วโลกนั่นเองครับ มีหลายราคาขึ้นกับความจุของ HDD ใน server นั้นๆซึ่งก็ขึ้นกับความใหญ่ของเว็บนั้นเอง และก็มีหลาย bandwidth ตั้งแต่ผู้เยี่ยมชมหลักร้อยจนถึงหลักหมื่น ราคาขึ้นกับว่าเว็บคุณมีผู้เยี่ยมชมเยอะมากแค่ไหน นอกจากนี้บริษัททีให้บริการ hosting ยังต้องดูและและรับผิดชอบในกรณีที่ host มีปัญหาล่มหรือถูก hack ฯลฯ อีกด้วย host นั้นมีหลายประเภทตั้งแต่แบบให้ปริการฟรีไปจนถึงการดูแล server เองในบริษัทขนาดใหญ่ ความรู้เพิ่มเติมของ Web hosting service ประเภทต่างๆครับ ถ้าเปรียบกับการสร้างบ้าน hosting ก็เหมือนที่ดินของบ้านคุณนั่นเอง ถ้าคุณซื้อที่ มันก็แพงมากและจะต้องดูแลเองด้วยแต่ก็เป็นของคุณคนเดียว หรือไม่ก็ไปเช่าที่ร่วมกับบ้านคนอื่นก็จะถูกลงและต้องจ่ายรายปี ถ้าเป็นการซื้อร่วมกันกับพื้นที่ดินจัดสรรและจ้างยามและเทศบาลดูแลทั้งหมู่บ้านจ่ายรายเดือนก็มีเช่นกัน หรือถ้าคุณอยากได้ที่อยู่ฟรีก็ไปขอการเคหะ (google site) แต่แน่นอนว่าสิทธิและชื่อของที่ดินก็ไม่ใช่ของคุณแน่

server ที่เป็นที่รวมของ เว็บต่างๆ อยู่ที่บริษัทเช่น CAT, CS Lox
server ที่เป็นที่รวมของ เว็บต่างๆ อยู่ที่บริษัทเช่น CAT, CS Lox

หลักๆของไทเกอร์ไอเดียจะมีข้างต้นนะครับ สำหรับบริษัทต่างประเทศบางทีจะมีการแบ่งเว็บไซต์ใหญ่ๆเป็นแบบอื่นด้วยเช่นกัน สำหรับท่านที่มีแนวคิดที่น่าสนใจถ้าแบ่งปันผมได้ก็จะเป็นพระคุณยิ่งนะครับ

สำหรับบางเจ้าก็จะมีตัวอย่าง option ดังนี้ (และก็อาจมีแบบอื่นๆอีกสำหรับลูกค้ารายต่างๆ)

6.Picture management

ในกรณี resort สร้างใหม่ๆหรือยังสร้างไม่เสร็จแต่ต้องการจะ launch เว็บไซต์แล้ว จะยังไม่มีรูปโรงแรมที่พร้อม (ระยะเวลาที่จะ launch เว็บไซต์คือก่อนรีสอร์ทหรือโรงแรมเสร็จสัก 3-6 เดือนจะทำให้เว็บติด google พอดีตอนเปิดตัว) ในบางกรณีต้องใช้รูปที่ทางสถาปนิกออกแบบมาก่อนใส่เข้าไปและทยอยนำรูปจากสถานที่จริงที่ยังไม่เรียบร้อยเช่นกันมาลงเว็บ ซึ่งทางพนักงานของบริษัททำเว็บต้องมีการ retouch ปรับแต่งรูปมากมาย เช่นการแต่งรูปให้ไม่รก การลบรอยเท้าช่างในห้องนอน หรือการย้ายวัสดุก่อสร้างที่วางเกะกะในรูป และมีการ replace รูปอยู่บ่อยครั้งในช่วงปีแรกเพราะสถานที่ยังไม่นิ่ง ทางไทเกอร์ไอเดียจึงคิดค่าบริการตัวนี้เป็นราคาเหมาทั้งปีทำกี่รูปก็ได้พร้อมอัพโหลดรูปเข้าไปด้วยครับ

7.website maintenance

การดูแลปรับปรุงเว็บและอัพเดทโปรโมชั่นพร้อมทั้งแก้ไขคำต่างๆครับ สำหรับลูกค้าส่วนใหญ่ที่ไม่มีเวลาดูแลเว็บ เว็บก็มักจะนิ่ง ถ้าเป้นโรงแรมโปรโมชั่นก็จะล้าสมัยได้ง่าย(เช่นโปรโมชั่นช่วงปีใหม่เป็นต้น) เราก็จะทำตรงนี้ให้ด้วย สำหรับบางลูกค้าทางทีมงานมีการคิดราคาในส่วนของ marketing campaign ในแต่ละช่วงเวลาให้ด้วยซึ่งราคาต่อเดือนก็จะเพิ่มขึ้นมา เว็บขนาดเล็กการ maintenance จะมีราคาประมาณ 2000 – 8500 บาทต่อเดือนขึ้นกับบริการ แต่เว็บขนาดใหญ่อย่างเช่นเว็บไซต์บริการของธนาคารที่มีราคาหลายๆล้านบาททางไทเกอร์จะคิดค่า maintenance เป็นต่อปีมูลค่า 10% ของโครงการ เช่นโครงการราคา 3,000,000 บาท ทางทีมจะคิดค่า maintenance 300,000 บาทต่อปีซึ่งมักจะสอดคล้องกับมูลค่าความเสี่ยงของลูกค้าหากเว็บไซต์มีปัญหาขึ้นมาครับ

8. Copywriter

ลูกค้าที่ทำเว็บใหม่ๆ อยากได้จำนวนหน้าเยอะๆ ร้อยทั้งร้อยจะมาติดตรงไม่รู้จะหาข้อความใดมาใส่ให้เต็มหน้าเว็บนี่แหละครับ copywriter ที่มีความรู้เรื่องการเขียนทั้งเชิงโฆษณาให้สัมพันธ์กับ keyword มีหลายระดับตั้งแต่เขียนปั่นข้อความทั่วไปจนถึงระดับ Copywrite โฆษณา

9.SEO consulting and implementing

อันนี้ที่มักจะคิดเป็นรายเดือนเพราะเราต้องว่ากันยาวครับ คือถ้าเว็บจะดังจะต้องเริ่มต้นใส่ใจตั้งแต่โครงสร้าง และเก็บรายละเอียดที่องค์ประกอบ ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่ลูกค้าไม่รู้และไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องจ่ายราคาแพงสำหรับเว็บที่สร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันสำหรับ SEO สักตัว คุณอาจจะลองเปรียบเทียบได้กับถ้าคุณสร้างบ้านเป็น และสร้างบ้านเอง แม้แต่การผสมปูนคุณก็ต้องพิถีพิถันทุกโม่แน่นอนครับ ลองอ่านได้ในบทความเก่าของผมครับ วิธีทำ SEO เบื้องต้น 1 และ วิธีทำ SEO เบื้องต้น 2และ SEO checklists นอกจากนี้การทำ SEO รายเดือนก็คือการบริหารลิงค์ต่างๆ การเขียนคอนเท้นท์ที่มีคีย์เวิร์ดที่ดี การทำลิงค์ภายใน การวิเคราะ์คีย์เวิร์ดและปรับแต่ง (ทางทีมงานไทเกอร์เองมีการรับให้คำปรึกษาในการเขียน blog สำหรับโรงแรมด้วยครับ ขณะนี้มีให้บริการอยู่ 3 โรงแรมในปาย )

10. Data input

เว็บไซต์บางเว็บโครงสร้างไม่ได้ซับซ้อนมาก แต่ต้องใส่ข้อมูลเยอะมากกว่า 50 หน้า เช่นเว็บไซต์ที่เป็น e-commerce หรือ Spec Catalog เปรียบเสมือนการใส่เฟอร์นิเจอร์เข้าไปในบ้าน ถ้าใส่เยอะก็สมควรที่จะราคาแพงขึ้นครับ เว็บบางเว็บค่าใส่ข้อมูลอาจแพงกว่าค่าทำเว็บก็ได้ เช่นการตกแต่ง Hall Impact ที่โล่งกว้างให้น่าเดินนั่นเอง

..11..12…13 ก็มีแล้วแต่ลูกค้าครับ อย่างเช่น Media management การจัดหาถ่ายรูปถ่ายวีดีโอ แม้กระทั่งขึ้นเฮลิคอปเตอร์ถ่ายทำโรงงานในเว็บของ gmthailand และงาน Production อื่นๆ ฯลฯ

ใบเสนอราคา แบบ Man-day

ลูกค้าบางส่วนของไทเกอร์ไอเดียที่มี requirement ไม่ชัดเจน หรือลูกค้าที่มี requirement ชัดเจนมากๆและต้องการซื้อเวลาพนักงาน ทางทีมจะเสนอราคาด้วย rate card ของพนักงานครับ สำหรับความรู้เกี่ยวกับต้นทุนราคาที่สัมพันธ์กับการใช้เวลา (man-day)ของพนักงานมีคร่าวๆคือ พนักงานมีเงินเดือนเท่าไหร่ นำมาหารด้วย 22 วันทำงานเฉลี่ยแต่ละเดือน (30-8=22 ตัดเสาร์อาทิตย์) จะได้ค่าแรงต่อวัน และตามทฤษฎ๊แล้ว บริษัทจะมีค่าโสหุ้ยของพนักงานแต่ละคนประมาณ อีก 1 ถึง 1.5 เท่าของเงินเดือนครับ (อ้างอิงจากบริษัทขนาดใหญ่อย่าง unilever จะมีค่า โสหุ้ย 0.9 เท่าของเงินเดือน แต่บริษัทขนาดเล็กอย่างผมโสหุ้ยจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5-2 เท่า) นั่นหมายถึง ถ้า Programmer เงินเดือน 22,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นต้นทุน manday ของบริษัทจะเท่ากับ 22,000/22วันทำงานx2= 2000 บาทต่อวันนั่นเอง ดังนั้นถ้าพนักงานคนนี้คนเดียวต้องทำเว็บนึงสิบวัน เว็บนี้อย่างน้อยราคา 2000×10=20000 ยังถือว่าเท่าทุนอยู่เลยนะครับ ยังไม่ได้บวก man-day ของ sale และ AE เลย และต้นทุนอื่นๆ ซึ่งจริงๆแล้วเราต้องบวก cost ของการหมุนเงิน(พวกดอกเบี้ยที่เกิดจาก credit ทั้งหลาย อย่าง Ogilvy credit 3 เดือนแต่เอาเข้าจริงๆผมโดนไป 5 เดือน ต้องคูณอีกไม่ต่ำกว่า 10% ทบต้นทบดอก) cost ค่าเสียโอกาส, cost ด้านเว็บราชการ(ที่ผมจะกล่าวในโพสหน้า), cost ด้านต้นทุน R&D ที่เป็น core competency ของแต่ละบริษัทและอื่นๆอีกบานตะไท สรุปง่ายๆว่าถ้าอยากจะได้กำไรบ้างให้เอา man-day x 3 โลดขึ้นไปตามสูตรผม ยิ่งเป็นระดับผู้บริหารบริษัทถ้าเข้าไปต้อง man-day ละหมื่นครับ (เริ่มมองเห็นต้นทุนที่แท้จริงกันแล้วล่ะสิ)

ถ้าเปรียบเทียบกับบ้านก็คือ การคิดเงินแบบแทนที่จะเหมาราคาบ้าน เป็นการจ้างคนงานและผู้รับเหมารายเดือนด้วยตัวเองแทนครับ ถ้าคนจ้างเรื่องน้อยมีความรู้เยอะบ้านก็จะเสร็จเร็วและราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ(ไม่ต้องจ้างผู้รับเหมาเพราะคุมเอง) แต่ถ้าเจ้าของเรื่องมากปรับนู่นปรับนี่ไปเรื่อยๆล่ะก็…จ่ายไปเรื่อยๆสิครับ บางคนก็มีความสุขดีนะ

สำหรับ Quotation แบบอิง man-day แนะนำให้ดูที่ โพส ทำเว็บรัฐบาลตอนที่ 0 proposal and quotation

สรุปได้ดังนี้ครับสำหรับ Rate card TiGERiDEA

Analyst/ Art Director : Man-day ละ 10,000 (คนคิดแผนทุกอย่าง แม้กระทั่งลงมือ Design หน้าเว็บให้ตอบโจทย์ในครั้งแรก)

Project manager/Account Executive : 20,000 บาทต่อเดือน คนนี้ดูแลลูกค้า เลยไม่ได้จำกัด man-day

Designer : Man-day ละ 2,000 บาท

Programmer : Man-day ละ 5,000 บาท

Editer on site: Man-day ละ 7,500 บาท (คนนี้ต้องระดับต่อรองลูกค้าได้ด้วย)

Copy writer : Man-day ละ 3,000 บาท

Content Visualizer : Man-day ละ 4,000 บาท ผู้แปลงเนื้อหาที่ลูกค้าโยนมาให้อยู่ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย เหมาะกับเว็บ

สำหรับเรทราคาทำเว็บของฝรั่งเคยมีบล็อคที่น่าสนใจ คุณ Macroart นำมาให้ดูเมื่อสองปีก่อนครับ อันนี้คิดเป็นชั่วโมงกันเลยทีเดียว

ตัวอย่าง

Quotation คิดเป็นชั่วโมงตาม Rate card มาตราฐานฝรั่ง
Quotation คิดเป็นชั่วโมงตาม Rate card มาตราฐานฝรั่ง