บอย โกสิยพงษ์ ในมุมมองของผม

บอย โกสิยพงษ์ ( หลายๆคนชอบเขียนเป็น บอยด์ ตามภาษาอังกฤษ Boyd ) account twitter คือ @boydtui หรือพี่บอย ในมุมมองของผมนับว่าเป็นนักธุรกิจที่มีทักษะในการบริหารคุณค่าและประยุกต์ศิลปะได้ยอดเยี่ยมมากครับ ผิดกับคาร์แร็คเตอร์จริงๆของพี่เค้าเลย ในชีวิตนักดนตรีกับการทำงานธุรกิจของผมนั้นได้มีโอกาสเกี่ยวข้องกับพี่บอยบ้างหลายครั้งโดยเริ่มในยุคของ Love iS โดยรวมพี่เค้าเป็นคนที่เราสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากครับ ด้วยอัธยาศัยแบบเนิบๆนั้น ทุกครั้งที่เราพูดคุยกันในเรื่องส่วนตัวก็จะได้รับความจริงใจ และถ้าเป็นการดีลธุรกิจก็จะได้สัมผัสอีกด้านที่เอาจริงเอาจังกับพลังในการหา win-win solution แบบนักธุรกิจ ส่วนการให้ความไว้วางใจนั้นถ้าพี่บอยไว้ใจใครก็จะให้อิสระในการทำงานดีทีเดียวซึ่งเราทุกคนล้วนรู้สึกดีที่ได้”ทำอะไรสักอย่างให้พี่บอย”ด้วยครับ

account twitter ของพี่บอยเป็นชื่อพี่บอยกับภรรยาครับ @boydtui ส่วนรูป Avatar มาจากโปรเจ็ค TRUE-Clicklife
account twitter ของพี่บอยเป็นชื่อพี่บอยกับภรรยาครับ @boydtui ส่วนรูป Avatar มาจากโปรเจ็ค TRUE-Clicklife

ด้านดนตรี กับ พี่บอย โกสิยพงษ์

ผมเองเมื่อสาม-สี่ปีก่อนได้มีโอกาสไปเล่นดนตรีไลฟ์สดทาง Internet และ TRUE Vision ซึ่งเป็นการผลักดัน TRUE MUSIC และไม่มีการบันทึกเทปครั้งแรก ซึ่งน่าจะเป็นไอเดียของพี่บอยด์กับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ( CEO ของ TRUE ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนกับพี่บอยด์ ) ในครั้งนั้นคอนเสิร์ตทำได้ดีมาก แต่ตัว Event อาจมานำเทรนด์ Streaming ไปนิดทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ( แต่ก็เกิดจุดเริ่มตามประสาการแหย่เท้าทดลองสไตล์ TRUE ) อย่างไรตอนนัั้น Event นี้พี่บอยทำให้ทุกฝ่าย win-win กันแทบทั้งนั้นทีเดียว TRUE ได้ทดลอง Kick Off ศักยภาพของ TRUE MUSIC , พี่บอยได้คอนเสิร์ตและ Event และได้ดูแลด้าน Digital Content บ้างบางส่วน, ศิลปิน E1EVEN1TH ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไม่นานได้มีคอนเสิร์ตใหญ่มาลงซะที, ส่วนนักดนตรีอย่างผมได้ตังค์ค่าเล่นคนละสองหมื่น 😛

ทีมงาน Production และนักดนตรี ซ้ายสุดพี่สายชล(innocent) เป็นผู้ดูแลศิลปิน ผมยืนข้างพี่ไก่สุธีที่ดูแลคอนเสิร์ต ส่วนพี่บอยด์อยู่ด้านขวา
ทีมงาน Production และนักดนตรี ซ้ายสุดพี่สายชล(The Innocent) เป็นผู้ดูแลศิลปิน( Artist Relation , AR ) ผมยืนข้างพี่ไก่สุธี ที่ดูแลคอนเสิร์ต ส่วนพี่บอยด์อยู่ด้านขวาครับ น้องข้างหน้าก็เป็นทีมแบ็คอัพจาก Jetset'er และ Lipta

เป็นการถ่ายทอดสดที่สดจริงๆ ผมยกตัวอย่างวีดีโอนี้ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆศิลปินที่มาร่วม จะเห็น พี่น้อยวงพรูล้มถึงสองครั้ง ส่วนตัวผมอยู่ด้านขวาสุดครับมองไม่ค่อยเห็นเพราะเพลงนี้ไม่ค่อยมีคีย์บอร์ด ส่วนภาพกับเสียงไม่ซิงค์เพราะผม upload จาก dvd ที่อัดมาครับ

การสื่อสารของพี่บอยเวลามาดูพวกเราซ้อมนั้นจะใช้คำที่เป็นความรู้สึกส่วนใหญ่ครับ เพราะว่าพี่บอยด์นั้นความจริงแล้วถนัดด้านการแต่งเพลงมากกว่า อย่างเช่นเพลงบางเพลงที่ต้องย้ำเปียโนขึ้นต้น พี่บอยจะบอกกับผมว่า “พัชกดย้ำกว่านี้นิดนึง” พร้อมทำแขนประกอบด้วย แต่จะไม่ได้บอกเชิง Musical Technique แต่อย่างใด ส่วนการแต่งเพลงของพี่บอยด์นั้นบางครั้งจะแต่งโดยนั่งคุยกับนักดนตรีที่พี่บอยชอบสไตล์และไว้ใจได้ครับ โดยถ้าเป็นเพลงอัลบั้มของพี่บอยเองมักจะใช้นักดนตรีชาวต่างชาติและไปอัดเสียงที่อเมริกาตลอด เพื่อให้มี”กลิ่น”ของดนตรีที่ไม่เหมือนใครในไทยนั่นเอง ส่วนการแต่งเพลงให้คนอื่นบางครั้งก็จะนั่งกับนักดนตรีไทยเป็นครั้งคราวไป

ผม พี่บอย พี่สมเกียรติ ในเต๊นท์พักศิลปินในช่วง Winter Festival ปี 2007, ช่วงที่ Love iS เริ่มมีปัญหากับ RS Fresh Air
ผม พี่บอย พี่สมเกียรติ ในเต๊นท์พักศิลปินในช่วง Winter Festival ปี 2007, ช่วงที่ Love iS เริ่มมีปัญหากับ RS Fresh Air

สำหรับการเซ็ทอัพวงเพื่อแสดงคอนเสิร์ตนั้น พี่บอยอาจจะมาดูครั้งสองครั้งครับถ้าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่เก็บเงิน แต่ถ้าคอนเสิร์ตกลางๆ ช่วงแรกๆพี่บอยจะให้พี่ไก่ สุธีแวะมาดูบ้าง แต่ช่วงหลังๆพอทีม Back Up เราเป็นที่ไว้ใจแล้วก็จะไม่มาดูกันเท่าไหร่ครับ เหลือเพียงพี่สายชลที่จะคอยประสานเช็คว่าได้ซ้อมหรือยัง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า สรุปก็คือถ้าเป็นด้านดนตรีพี่บอยจะไม่ลงมาดูรายละเอียดจุกจิกเลยครับ และการให้พี่สายชลเป็น AR นั้นเหมาะสมมากจริงๆเพราะพี่สายชลถือว่าเป็นศิลปินรุ่นใหญ่ที่ศิลปินรุ่นน้องๆให้ความเคารพนับถือ ดังนั้นปัญหาติสเกินควบคุมของศิลปินจึงมักไม่ค่อยมีครับ

พี่บอยอยู่ด้านหน้าผมขณะกำลังเล่นช่วง BoydPod สังเกตได้ว่ากีต้าร์พี่เค้าถือเป็น Prop นะจ๊ะ
พี่บอยอยู่ด้านหน้าผมขณะกำลังเล่นช่วง BoydPod สังเกตได้ว่ากีต้าร์พี่บอยถืออยู่เป็น Prop นะจ๊ะ

ในส่วนของด้านการทำเพลง ผมเองทำที่บ้านและส่งแบบ online ครับ ด้วยความที่เป็นมือคีย์บอร์ดเมื่อได้โจทย์มาก็จะมาเริ่มเรียบเรียงใส่กลองใส่เบสกีต้าร์ ฯลฯ โดยใช้ Garageband นี่แหละ จากนั้นจึงค่อยส่งไปยัง Producer เพื่อคอมเม้นท์ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยมีปัญหาถึงพี่บอยด์ครับ นานๆครั้งอาจจะมีบ้างเช่น “ตรงนี้พี่ว่ามันกัดนิดหน่อยน่ะ” (เช่นเพลงของ AF ที่จะใช้ประกอบละครหลังข่าว) ซึ่งเราก็ต้องมาตีความเล็กน้อยและทำส่งให้ใหม่ทางเมล์เฉพาะจุดอีกที จากนั้นจึงส่ง project ให้คนมิกซ์ไปทำต่อ การเรียบเรียงเพลงให้พี่บอยมักจะออกมาในรูป Musician Driven Style มากกว่า คือเป็นดนตรีแบบที่มีความสนุกโดยธรรมชาติจากการเล่นดนตรีสดของนักดนตรีแต่ละสไตล์ ซึ่งพี่บอยหรือโปรดิวเซอร์จะเข้าใจว่าใครเล่นสไตล์ไหน (ค่อนข้างเป็นนามธรรมมากแต่เราจะรู้กัน) และเลือกใช้นักดนตรีคนนั้น ดังนั้นจะไม่ค่อยมาจู้จี้มากว่าอยากได้อย่างโน้นอย่างนี้เพราะเป็นการเลือกสไตล์แล้วตั้งแต่ตัวคนเล่นนั่นเองครับ นี่เป็นวิธีที่ดีมากในการลดตำแหน่ง Music Director ได้เพราะผมคาดว่าด้าน Musical and Arranging (เรียบเรียงเพลง) เท่านั้นที่พี่บอยด์สื่อกับคนอื่นได้ยากเล็กน้อย ส่วนด้านอื่นเจ๋งหมด รวมทั้งด้านที่เป็น Key Success ของความสำเร็จนั่นคือ เนื้อเพลงที่ดังๆทั้งหลายเจ้าของค่ายอย่างพี่บอยแต่งเอง

วิเคราะห์ บอย โกสิยพงษ์ กับ Music Business

ใครได้เห็นมาดพี่บอยเมื่อสมัยที่พี่เค้ายังไม่ดัง อาจจะงงๆว่านี่หรือคือนักแต่งเพลงและเจ้าของค่ายผู้ยิ่งใหญ่ ที่เปลี่ยนยุคของเพลงไทยได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ ( เรื่องของการเปลี่ยนผ่านบริษัท Bakery จนถึง Love is ในปัจจุบัน แนะนำให้อ่านหนังสือ “Bakery & I” โดยพี่สุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์ ) ความจริงแล้วพี่บอยจบการศึกษาด้านการแต่งเพลง และธุรกิจเพลงจาก UCLA (University of California at Los Angeles) ซึ่งเป็น U Top Ten ของอเมริกาทีเดียว ดังนั้นทางเดินของพี่บอยจนถึงวันนี้นั้นไม่ได้เดินไร้ทิศทางหรือสะเปะสะปะแน่นอนครับ และการเดินพลาดของพี่บอยในช่วงเบเกอรี่-Sony BMG นั้นก็ดูเหมือนจะไม่ใช่ความผิดพลาดในสายตาของผมด้วยซ้ำ

จาก Bakery ถึง Love iS ประวัติของพี่บอยใน wikipedia

บริษัทเบเกอรี่มิวสิค เติบโตเรื่อยมาจนกระทั่งประสบปัญหาทางการเงินจนต้องเข้าร่วมกิจการกับบริษัทบีเอ็มจีมิวสิค(ประเทศไทย) และภายหลังในปี พ.ศ. 2547 บริษัทแม่ของบีเอ็มจีที่ต่างประเทศได้ควบรวมกิจการกับบริษัทโซนีมิวสิก ส่งผลให้บริษัทเบเกอร์รี่มิวสิคที่เข้าร่วมกิจการกับบริษัทบีเอ็มจีมิวสิค(ประเทศไทย) ต้องเข้าร่วมกับบริษัทโซนีมิวสิก(ประเทศไทย)ไปโดยปริยาย และเบเกอร์รี่มิวสิค ต้องกลายเป็นค่ายเพลงย่อยของโซนี่มิวสิค ผู้บริหารของเบเกอร์รี่มิวสิครวมถึงบอยเองจึงลาออกจากเบเกอร์รี่มิวสิค ต่อมาบอยและสุกี้ กมล สุโกศล แคลปป์ ได้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงใหม่ขึ้นมาภายใต้ชื่อ เลิฟอีส แต่ต่อมาค่ายเพลงเลิฟอีส ได้ปรับมาเป็นบริษัทโปรดักชั่นเฮ้าส์

ยุคแห่งการสื่อสารปัจจุบันทำให้ทุกคนมีแนวโน้มที่จะสร้างชื่อเสียงกันแบบปัจเจกมากขึ้น (เช่นเดียวกับบริษัทขนาดเล็กมีจุดแข็งมากขึ้น) พี่บอยน่าจะมองเห็นแนวโน้มที่ว่า ถ้าเจ้าของบริษัทมีชื่อเสียงล่ะก็ อย่างไรกลุ่มก้อนของธุรกิจรวมทั้งเจ้าของก็ไปรอด ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือไม่ก็ตาม เช่น Bakery เปลี่ยนเป็น Love iS ก็ไม่ได้มีผลอะไรเพราะ Branding อยู่ที่พี่บอยนั่นเอง หรือถึงแม้อนาคต TRUE จะมาควบรวมบริษัทก็ไม่มีผลอะไรเพราะอย่างไร Branding ไปกับพี่บอย ไม่ได้ไปเป็นของ TRUE ดังนั้นอัลบั้มของพี่บอยตั้งแต่ชุดแรกจึงมาในแนวรวมนักร้องนั่นเองครับ เนื่องจากอัลบั้มที่รวมนักร้อง Awareness จะไม่ได้อยู่ที่นักร้องทั้งหมด แต่อยู่ที่คนแต่งเพลงซึ่งคือพี่บอยนั่นเอง ในยุคนั้น Grammy ยังดันนักร้องเป็นคนๆอยู่ซึ่งศิลปินนั้นก็มี Life Cycle และต้องพึ่งระบบบริษัทเยอะมากทำให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันน้อยลงทุกทีๆ ในขณะที่ Value หลักของเพลงที่ดังๆนั้นพี่บอยเป็นคนแต่ง นักร้องที่นำไปร้องก็จะนำเสนอให้เพลงของพี่บอยดังขึ้นด้วยครับ สำหรับศิลปินเดี่ยวและกลุ่มแน่นอนว่าก็มีหลายคนที่ออกอัลบั้มในสังกัด Bakery และ Love iS และทุกคนนั้นมักจะมี “เพลงที่พี่บอยแต่งให้” ในอัลบั้มเป็นประจำ เมื่อมีการแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ของพี่บอย ศิลปินเหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาร้องเพลงของพี่บอยทุกครั้งนั่นเองครับ ซึ่งหลังๆ Grammy ถึงได้มีการจัดคอนเสิร์ตที่เน้นนักแต่งเพลงกันบ้างมากขึ้นแต่อย่างไรอากู๋ ก็ไม่ได้เป็นคนแต่งเพลงอยู่ดี

โต๋นั้นแรกเริ่มพี่บอยได้นำเข้าวงการ หมดยุคเบเกอรี่ก็ไปดังที่ Sony แทน แต่ก็ยังช่วยพี่บอยเสมอครับ อ้อ ผมซ่อนอยู่ด้านหลัง :P
โต๋นั้นแรกเริ่มพี่บอยได้นำเข้าวงการ หมดยุคเบเกอรี่ก็ไปดังที่ Sony แทน แต่ก็ยังช่วยพี่บอยเสมอครับ อ้อ ผมซ่อนอยู่ด้านหลัง

มาถึงในระยะหลัง Awareness ของ Brand นักร้องบางคนนั้นสูงมากเช่นพี่ป๊อด พี่บอยด์ต้องการทำอัลบั้มเดี่ยวโดยให้พี่ป๊อดร้อง (ไม่ได้รวมนักร้องเหมือนทุกที ) จึงควรใช้ชื่อ BoydPod นั่นเองครับ สำหรับพี่นพซึ่งเป็นนักร้องคู่บุญของพี่บอย พี่บอยได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า “เสียงของคุณ นพ เป็นกลางและนำเสนอเพลงพี่บอยได้ดี” ก็คือเสียงพี่นพเป็นนักร้องที่ ไม่มีคาร์แร็กเตอร์ที่ทำให้ผู้ฟังเสียสมาธิและมุ่งความสำคัญไปที่ความหมายของเพลงของพี่บอยด์นั่นเองครับ ในขณะที่นักร้องคนอื่นอย่างเช่นพี่ป๊อดนั้นเป็นนักร้องมืออาชีพตั้งแต่สมัยเรียน (สวนกุหลาบ ต่อ ครุศาสตร์จุฬาฯ) ดังนั้นจะมีเทคนิคนานัปการในการเรียกความสนใจด้วยเสียงร้องกับคนดู ทำให้บางครั้งคนดู อินกับนักร้อง ไม่ได้ อินกับความหมายของเพลงนั่นเอง (อัลบั้ม BoydPod จะเห็นว่าพี่ป็อดร้องเรียบมากเพื่อให้คนฟัง Concentrate ที่เนื้อเพลง) ในขณะที่พี่นพนั้นไม่ได้เป็นนักร้องมืออาชีพตั้งแต่เริ่มต้นและมาสายอาชีพปกติมากกว่า ( พี่นพเรียน เตรียมอุดม ต่อด้วยวิศวะมหิดล และศึกษาต่อต่างประเทศในสาขา Business Administration ที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ )

ปัจจุบันบริษัท Love iS นั้นเป็นบริษัทไม่ใหญ่มาก พนักงานประจำไม่กี่คน เป็นลักษณะบ้านในซอยทองหล่อ ซึ่งสเกลขนาดนี้และพนักงานแต่ละคนที่มีประสิทธิภาพและรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับองค์กรทำให้ผมรู็เลยว่า Love iS นั้นสามารถอยู่ได้สบายด้วย Brand ส่วนตัวของพี่บอยครับ ส่วน Product ในเชิง Production นอกจากอัลบั้มแล้วก็เป็นด้าน Marketing ไม่ว่าจะเป็นการทำเพลงให้องค์กรต่างๆที่มีราคาหลายแสนบาท เช่น GM Thailand และ ปตท เพลงที่ดังที่สุดก็คือเพลง “เรื่องจริง”ของ Canon นั่นเอง (ดังทั้ง Canon และ Boydpod เลย) รวมถึงเป็น Presenter แบบ Win-Win ให้กับแอร์ยี่ห้อหนึ่ง และยังมีอีกหลายอย่างที่แบรนด์ “พี่บอย”สามารถขายได้เสมอ

เพลงเรื่องจริง ได้ประโยชน์ทั้ง Canon และ อัลบั้ม BoydPod เลยทีเดียว

ผมในฐานะ TiGERiDEA กับพี่บอย โกสิยพงษ์

เมื่อสองปีก่อนในช่วงที่ TiGERiDEA ยังอยู่ที่ RCA ได้มีโอกาสนำเสนองานกับ TRUE หลายครั้ง งานที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการร่วมงานกับบริษัทผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น BeboydCG ในการผลิต Presentation เพื่อนำเสนอโปรเจ็ค TRUE Clicklife ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งในการรุกคืบโปรเจ็คด้านการศึกษาของ TRUE

สำหรับบริษัทนี้ในครั้งแรกพี่บอยร่วมตั้งขึ้นกับผู้ถือหุ้นเพื้อผลิตการ์ตูนและอนิเมชั่นทางทีวี ตอนที่ผมไปมีการบริหารโดยพี่บูซึ่งเป็นน้องพี่บอย และมีผลงานทำหนังเรื่อง นาค ภาคการ์ตูน โดยเป็นบริษัทโปรดักชั่นเต็มรูปแบบและมี Graphic Design ,Animator หลายสิบคน เท่าที่ผมมองในฐานะเคยเป็นบริษัท Production House เช่นกันก็รู้สึกว่าบริษัทนี้แบก Cost หนักมากแน่นอน ลำพังพี่บอยกับพี่บูน่าจะแบกกันในระยะยาวลำบาก ผมคาดว่าด้วยจังหวะประจวบเหมาะกับ TRUE นั้นต้องการบริษัทผู้ผลิตคอนเท้นท์และพี่บอยเป็นเพื่อนกับคุณศุภชัยประกอบกับความสามารถในเชิงธุรกิจ ทำให้ TRUE เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่ (ประมาณ 60-70%) และปัจจุบันกลายเป็น TRUE- Beboyd CG และทรูได้ส่ง Project Manager ที่มีความชำนาญในเรื่องการทำคอนเท้นท์และการสอนเด็ก เข้ามาดูแลงานผลิตโครงการการศึกษานี้ด้วยครับ

การทำอนิเมชั่นเสนอทีมคุณศุภชัยนั้นก็เป็นไปอย่างเร่งด่วนโดยครั้งแรกๆนั้นน้องชายของคุณบอยและผู้ดูแลโครงการจากทางทรูได้ดูแลผมตลอด แต่ในขั้นการเคาะราคานั้นเป็นทางพี่บอยนั่นเองครับ หลังจากผมคิดค่า animate และ studio เรียบร้อยเพื่อพาเด็กเข้าไปนั้นพี่บอยเห็นราคาก็ขอลดทันทีด้วยถ้อยคำสั้นๆจนผมตั้งตัวไม่ติด “พัช พี่ขอลดหน่อยนะ” ดีลจึงมาลงที่ผมลดราคานิดหน่อยและในส่วนของ Animation ได้ทีมงาน BeboydCG มาช่วยทำด้วยครับซึ่งเป็นดีลที่น่าสนใจเพราะไม่น่ามีเวลา Revise เท่าไหร่ จากนั้นในวันตัดวีดีโอ พี่บอยได้เข้ามาดูที่ออฟฟิส TiGERiDEA ด้วยตัวเองหนึ่งครั้งด้วย สร้างความแตกตื่นเล็กน้อยกับน้องๆเล็กน้อยครับ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผมรู้ว่าพี่บอยน่าจะซีเรียสเรื่องเสียง ผมเลยทำเพลงประกอบที่ดัดแปลงจากเพลงธีม ClickLife มาเล่นเป็น Bebop แบบเร็วๆครับ พี่บอยน่าจะชอบอยู่บ้างเลยปล่อยผ่านอย่างรวดเร็ว

หลังจากนั้นก็มีการบริหารหลายอย่างของพี่บอยจนเกิดดีล TRUE Clicklife ขึ้นมา ปีนี้ปีที่สองแล้วครับ ถ้าทำต่อเนื่องน่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในมุมมองของผมพี่บอยดีลงานทางธุรกิจได้ดีเช่นกันเพียงหา win-win ทุกฝ่ายให้เจอ จากนั้นตอกยำ้ด้วย brand ของตัวพี่บอยสั่งสมมาอย่างแข็งแกร่ง ในกรณีที่ยากลำบากก็ยังมีวิธีถอยดูเชิงที่ดี ซึ่งผมคิดว่าเป็นกรณี TRUE ซื้อหุ้น BeboydCG นี่เอง ในเรื่องการดูแลคน ศิลปินเด็กๆหลายคนอาจจะไม่เข้าใจพี่บอยอยู่บ้างตามสไตล์ศิลปินไม่เคยทำธุรกิจ แต่ผมก็ถือว่าเป็นส่วนน้อยมากนะครับถ้าเทียบกับปัญหาในค่ายอื่นๆ ( ศิลปินเด็กๆของค่าย Love iS หลายคนมีฐานะทางบ้านดีมากเป็นทุนอยู่ครับ บางคนก็ไม่ซีเรียสเรื่องเงินเท่าไหร่ ) ส่วนการจ่ายเงินของ Love iS นั้นเป็นระบบมาก และจ่ายเร็วช้าตามความสามารถในการทำเงินของโปรเจ็คแยกกันอิสระด้วยเหมือนกัน แต่ในส่วนของนักดนตรีนั้น Love iS จ่ายสดหลังงานเสร็จทุกครั้งครับซึ่งทำให้ไม่มีปัญหาระยะยาวนั่นเอง

สรุปก็คือผมคิดว่า พี่บอยเป็นบุคคลที่ผมชื่นชมในฐานะนักธุรกิจดนตรีและนักกิจกรรมบันเทิงแห่งทศวรรษเลยทีเดียว เค้าเคยถือว่าเหมือนจะล้มมาแล้วครั้งหนึ่งการรับรู้ของสังคมแต่ยังลุกยืนหยัดได้อีกครั้งซึ่งทำให้เกิดจุดแข็งในการเรียนรู้ครั้งสำคัญ พี่บอยยังมี Personality ที่“ธรรมดาจนโดดเด่น”อีกด้วย ซี่งความสามารถในการวางตำแหน่งตัวเอง สร้าง Brand โดยได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและการมองอนาคตทางวงการดนตรีนั้นถือได้ว่าตอนนี้ยอดเยี่ยมและสอดรับกับสังคมยุคใหม่มากครับ อย่างไรก็ตามพี่บอยอาจจะบอกมาว่าทุกอย่างเกิดโดยธรรมชาติจริงๆก็ได้ แต่ผมก็จะบอกว่ามันคือธรรมชาติของนักธุรกิจที่ดีครับ 😀

โพสที่จะเขียนต่อไป :

1. Love iS ลุย Social Media ศิลปินมี twitter account กันหมด

2.TiGERiDEA ได้รับงานอนิเมชั่นของ TRUE Clicklife ในปีแรกด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นงานที่เราไม่เป็นที่น่าพอใจทั้งสองฝ่ายเท่าไหร่นัก ผมจะได้กล่าวถึงใน Case Study TiGERiDEA ในการทำงานกับ TRUE ในเวลาต่อไปครับ Case นี้น่าจะได้ความรู้ทีเดียวสำหรับผู้ต้องการบริหารโครงการและการบริหาร Freelance