วินิจฉัยโรครัก

เห็น @warong เปิดเว็บบดินทร์เขียนโพสอยู่ เลยขออ่านบ้างครับ พอดีจังหวะ @imenn กำลังป่วยด้วยโรครักพอดี 🙂 (ช่วงนี้ทำเว็บกันไม่ค่อยทันเลย AE อย่างผมก็ได้แต่อ้างลูกค้าว่าคนทำงานอกหักหัวใจสลายไปตามเรื่องน่ะครับ ฮ่าๆ)

imenn นอนป่วยด้วยโรครัก
imenn นอนป่วยด้วยโรครัก

คุณจ๋งกล่าวถึงบางตอนในหนังสือ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, อุมแบร์โต เอโก/ภัควดี วีระภาสพงษ์) ที่มีเนื้อหาเป็นคำวินิจฉัยของปราชญ์สมัยโบราณว่าด้วยอาการป่วยไข้ด้วยโรครัก

พระเอกของเรื่องเป็นพระบวชใหม่ (นวกะ – novice) ในยุคสมัยนั้น (สมัยกลาง) นักบวชคือคนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ก็คงมีส่วนคล้ายกับนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยสมัยเรานี่ล่ะ ในตอนนี้ พระเอกได้สำรวจห้องสมุดกับอาจารย์ ตัวอาจารย์กำลังจะไขปริศนาในห้องสมุดที่ถูกสร้างให้เป็นเขาวงกต ซึ่งทางเข้าเป็นห้องลับ ในห้องลับนี้รวบรวม “หนังสือต้องห้าม” ต่างๆ เอาไว้

แต่ในบางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเราเกร่อยู่ในห้องชุดของหอคอยทักษิณ อันมีนามว่า LEONES บังเอิญอาจารย์หยุดยั้งในห้องห้องหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยผลงานภาษาอาหรับ มีภาพวาดลายเส้นเกี่ยวกับวิชาจักษุวิทยาอย่างพิสดาร เนื่องจากคืนนั้นเราไม่ได้มีตะเกียงเพียงดวงเดียว แต่จัดหามาได้ถึงสองดวง ข้าพเจ้าจึงปลีกเข้าห้องถัดไปด้วยอาการใคร่รู้ แจ้งแก่ใจดีว่าปรีชาญาณและความรอบคอบของผู้วางแผนห้องสมุดแห่งนี้ ได้จัดรวบรวมหนังสือต้องห้ามไว้ตลอดกำแพงฟากดังกล่าว เพราะหนังสือเหล่านี้มีพิษภัยต่อร่างกายและจิตวิญญาณในหลายๆ ทาง อีกทั้งส่วนใหญ่ประพันธ์โดยปรัชญาเมธีชาวอสัทธา สายตาของข้าพเจ้ากวาดมาปะหนังสือเล่มหนึ่ง เล่มไม่ใหญ่นัก แต่ประดับด้วยภาพวาดเล็กละเอียด ซึ่งห่างไกลจากหัวข้อต้องห้ามทั้งปวง (ช่างโชคดีเสียนี่กระไร!) คือ มีแต่ ดอกไม้ เถาวัลย์ สัตว์จับกันเป็นคู่ ว่านสมุนไพรบางอย่าง ชื่อหนังสือคือ Speculum amoris ของแมกซิมุสแห่งโบโลนญา หนังสือเล่มนี้รวบรวมคำคัดลอกจากงานประพันธ์อื่นๆ อีกหลายเล่ม ล้วนแล้วแต่เรื่องไข้รักโรคสวาท ท่านผู้อ่านย่อมนึกเห็นภาพได้ดี ไม่ยากเลยที่มันจุดไฟเสน่หาขึ้นในใจข้าพเจ้าอีกครั้ง เร้าให้โลดเริงขึ้นอีกด้วยจินตภาพของหญิงสาว แม้ว่าหัวใจดวงนี้แสร้งทำเป็นชืดเย็นชามาตั้งแต่เช้าก็ตาม

ตลอดวันที่ผ่านมา ข้าพเจ้าบังคับใจตัวเองให้ขจัดความนึกคิดเมื่อยามเช้า คอยย้ำเตือนในใจว่ามันไม่เหมาะสำหรับนวกะผู้พึงสำรวมตน นอกจากนั้น เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดวันมีมากมายเข้มข้นจนเบี่ยงเบนความสนใจไปได้ ไฟสิเนหาจึงมอดลงชั่วคราว กระทั่งข้าพเจ้าทึกทักว่าตนได้ปลดเปลื้องความเร้ารุมใจ และเพลิงสวาทนั้นเป็นแค่ไฟที่ไหม้โพลงเพียงชั่วครู่ชั่วยาม มาบัดนี้สิ เพียงเห็นในหนังสือเล่มนี้และจำใจจำกล่าวว่า “De te fabula narratur” เท่านั้นแหละ ข้าพเจ้าจึงเพิ่งตระหนักแน่ว่าตนป่วยด้วยไข้รักยิ่งกว่าที่คิด ข้าพเจ้ามาเรียนรู้ในภายหลังว่า การอ่านตำราทางการแพทย์มักทำให้เราเชื่อเสมอว่า ตนรู้สึกเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกับที่ตำราบอกไว้ ฉันใดก็ฉันนั้น เพียงแค่กวาดตาอ่านหน้ากระดาษ อ่านลวกๆ อย่างรีบเร่งด้วยเกรงว่าวิลเลียมจะพรวดพราดเข้ามาในห้อง และซักไซ้ไต่ถามว่าข้าพเจ้าตั้งอกตั้งใจอ่านอะไรนักหนา เพียงแค่นั้นก็พอให้ปักใจว่าข้าพเจ้าทุรนทุรายด้วยโรคสวาทจริงๆ ด้วยว่าอาการของโรคที่พรรณนาไว้หยดย้อยในตำรา ในแง่หนึ่งมันบันดาลใจให้ข้าพเจ้าทุกข์ใจที่ตนป่วยรัก (โดยมีคำวินิจฉัยโรคบรรยายไว้ถูกต้องหลายประการ) แต่ในอีกแง่หนึ่ง ข้าพเจ้ายังใจชื้นที่เห็นพยาธิสภาพของตนถูกพรรณาไว้อย่างแจ่มแจ้ง ช่วยให้มีกำลังใจว่าแม้นป่วยไข้ ความป่วยไข้ของตนยังถือได้ว่าธรรมดาสามัญ ด้วยว่ายังมีปุถุชนอื่นอีกนับไม่ถ้วนต้องทุกข์ทรมานอย่างเดียวกัน และประพันธกรที่หนังสือนี้อ้างถึงสามารถยึดถือข้าพเจ้าเป็นแบบจำลองสำหรับบรรยายโรคได้เลยทีเดียว

ดังนั้น ข้าพเจ้าสะท้านใจกับหน้ากระดาษของอิบบัน-ฮาซิม ผู้นิยามความรักว่าไข้ขบถ ซึ่งการเยียวยามีอยู่ในตัวมันเอง เพราะคนป่วยไม่ต้องการรักษา และใครที่ป่วยด้วยโรคนี้กลับไม่อยากหายดี (พระเจ้าทรงทราบว่าข้อนี้จริงนัก!) ข้าพเจ้าเพิ่งตระหนักว่าไฉนเมื่อยามเช้า ดวงใจจึงปั่นป่วนกับทุกสรรพสิ่งที่มองเห็น คงเป็นเพราะความรักฉายผ่านนัยน์ตา ดังที่เบซิลแห่งแอนซิราเขียนไว้ และอาการนี้ไม่ผิดแน่ คือคนป่วยด้วยไข้ชนิดนี้มักแสดงความร่าเริงจนเลยเถิด แต่ในขณะเดียวกันก็ชอบปลีกตัวหาสันโดษ (ดังที่ข้าพเจ้าประพฤติเมื่อเช้า) ส่วนอาการอื่นๆ คือร้อนรนกระวนกระวายและหวาดระแวงจนพูดไม่ออก…..ข้าพเจ้าพรั่นใจนักเมื่ออ่านเจอว่าผู้ตกในห้วงรักแท้ หากไม่ได้ยลโฉมบุคคลที่ตนรัก อาการไข้จะทรุดลง ถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อก็มีมาก บางครั้งโรคนี้กลุ้มขึ้นสมองจนคนไข้เสียสติและเพ้อคลั่ง (แน่นอนว่าโรคของข้าพเจ้ายังไม่กำเริบถึงขั้นนั้น เพราะขณะที่สำรวจหอสมุด ข้าพเจ้ายีงมีสติสัมปชัญญะแจ่มใสดี) แต่อ่านต่อด้วยจิตประหวั่นว่าหากไข้นี้ยิ่งทรุดหนัก อาจถึงตายได้เหมือนกัน ข้าพเจ้านึกถามใจตนเองว่า ความสุขที่ได้จากการครุ่นคำนึงถึงหญิงสาว มีค่าคุ้มกับการพลีชีพเช่นนี้หรือไม่ นี่ยังไม่นับการสูญเสียสุขภาพจิตอีกต่างหาก

ข้าพเจ้ายังได้รับความรู้จากข้อเขียนบางตอนของท่านนักบุญฮิลเดการ์ดอันมีความว่า อารมณ์ซึมเศร้าที่ข้าพเจ้ารู้สึกตลอดทั้งวัน คือความรู้สึกปวดร้าวอาดูรระคนฉ่ำหวานที่ต้องพรากจากหญิงสาว นี่เป็นอารมณ์ที่ล่อแหลม เพราะใกล้เคียงกับความรู้สึกของมนุษย์ในสวนสวรรค์ ยามเมื่อเชือนแชจากภาวะบรรสานสมบูรณ์ และอารมณ์ซึมเศร้า “nigera et amara”(1) นี้เกิดจากลมหายใจของอสรพิษและฤทธิ์เดชของพญามาร นี่เป็นความคิดที่พ้องกับปรัชาญาเมธีชาวอสัทธาผู้เปี่ยมปรีชาทัดเทียมกันอีกหลายท่าน สายตาข้าพเจ้าไล่ระไปปะถ้อยคำของอาบู-บัคคีร มูฮัมมัด อิบบัน-ซาคาเรียยา อาร์-ราซิ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Liber continens ได้นิยามโรครักระทมเป็นประเภทเดียวกับโรคหมาป่าสิง ซึ่งบันดาลให้เหยื่อผู้เคราะห์ร้ายสำแดงอาการเหมือนหมาป่า คำขยายความของเขาทำเอาข้าพเจ้าจุกแน่นที่คอหอย ขั้นแรก ลักษณะภายนอกของคนในห้วงรักจะดูผิดแผกไปจากเดิม สายตาอ่อนล้าลง นัยน์ตาโหลลึกและแห้งไม่มีน้ำตา ลิ้นค่อยๆ แห้งผากและขึ้นตุ่มพุพอง ทั่วทั้งตัวแตกระแหงและกระหายน้ำอยู่เนืองนิจ พออาการทรุดถึงขั้นนี้ ผู้ป่วยจะนอนคว่ำหน้าทั้งวัน ตามใบหน้ากับแขนมีรอยเหมือนถูกสุนัขกัดผุเป็นจ้ำๆ จนขั้นสุดท้าย คนเจ็บจะเที่ยวสิงสู่อยู่ตามสุสานในยามราตรีเหมือนหมาป่า

ท้ายที่สุด ข้าพเจ้าสิ้นข้อกังขาว่าตนป่วยจนร่อแร่แน่ เมื่อได้อ่านข้อความที่คัดมาจากอวิเซนนาผู้ยิ่งใหญ่ เมธีท่านนี้นิยามความรักว่า เป็นความคิดดันทุรังของธาตุแห่งความคิดในตัวคน เป็นผลให้คนป่วยย้ำคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงรูปโฉมอากัปกิริยาหรือพฤติกรรมของเพศตรงข้าม (อวิเซนนาช่างพรรณนาอาการป่วยของข้าพเจ้าได้ถูกต้องแจ่มชัดเสียนี่กระไร!) ความรักเมื่อแรกบังเกิดไม่ใช่ความป่วยไข้ แต่มันจะกลายเป็นความป่วยไข้ในภายหลังหากไม่ได้รับสนองสมอารมณ์อยากจนกลายเป็นความคิดหมกมุ่น (แต่ทำไมข้าพเจ้าจึงยังรู้สึกหมกมุ่นทั้งๆ ที่ได้รับปรนเปรอจนอิ่มแปล้? ขอพระผู้เป็นเจ้าทรงอภัย หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนก่อนไม่ใช่การสนองความรัก? แต่ถ้าเช่นนั้น อะไรเล่าคือการสนองความไข้ชนิดนี้?) อาการต่อจากนั้นคือหนังตากระตุกไม่หยุดหย่อน ลมหายใจไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวๆ ก็หัวเราะ เดี๋ยวๆ ก็ร้องไห้ ชีพจรเต้นระรัว (จริงนั่นแหละ หัวใจข้าพเจ้าสั่นริกๆ และลมหายใจขาดห้วงเมื่ออ่านถ้อยคำเหล่านี้!) อวิเซนนาแนะนำว่าหากอยากรู้ว่าใครตกอยู่ในห้วงรักหรือไม่ จงใช้วิธีการมาตรฐานที่ปราชญ์กาเลนเคยเสนอไว้ คือคว้าข้อมือผู้ป่วย และเอ่ยชื่อเพศตรงข้ามออกมาหลายๆ ชื่อ จนพบว่าชื่อไหนทำให้ชีพจรเต้นระรัว ข้าพเจ้านึกกริ่งใจว่าอาจารย์อาจพรวดพราดเข้ามา คว้าแขนข้าพเจ้า และความลับคงแตกเพราะเสียงเต้นตุบตับของเส้นเลือด ข้าพเจ้าคงอับอายขายหน้าสุดประมาณ….. อนิจจา อันโอสถเยียวยาโรคนี้ อวิเซนนาแนะนำให้คู่รักทั้งสองแต่งงาน ยาขนานนี้ย่อมรักษาโรคได้ชะงัด เขาเป็นปราชญ์ชาวอสัทธาโดยแท้ แม้คมคายหลักแหลมก็เถอะ เพราะเขาช่างไม่คำนึงถึงสภาพของผู้เป็นนวกะคณะเบเนดิคทีนเสียเลย อย่างข้าพเจ้านี้ต้องเป็นไข้เรื้อรังไม่มีวันหาย หรือไม่ก็ถูกอุปโลกน์ว่าไม่รู้จักป่วยรัก เพราะบวชเป็นพระ จะโดยสมัครใจเองหรือบังคับให้สมัครใจจากญาติโกโหติกาผู้คร่ำโลกทั้งหลายก็ตาม โชคยังดีที่ท่านอวิเซนนา ถึงไม่ได้คิดแทนสำนักคลูนิแอค ยังอุตส่าห์พิจารณากรณีของคู่รักที่ไม่อาจอยู่ร่วม และแนะนำให้อาบน้ำร้อนเป็นวิธีรักษาขั้นมูลฐาน (หรือเบเรนการ์พยายามรักษาตนจากไข้รักที่มีต่ออเดลโมผู้ล่วงลับ? แต่คนเราสามารถป่วยรักกับเพศเดียวกันได้หรือเปล่า หรือเป็นแค่ตัณหาลามก? ถ้าเช่นนั้น รัตติกาลที่ข้าพเจ้าสมรักมิกลายเป็นแค่ความลามกและตัณหาดอกหรือ? ไม่ ไม่ใช่แน่ ข้าพเจ้าบอกตนเองทันที มันหวานซึ้งใจที่สุด แล้วในใจรีบค้านทันใดว่า: ไม่จริง เจ้าผิดแล้ว แอดโซเอ๋ย มันเป็นมายาของมารร้าย มันอุบาทว์หยาบช้าที่สุด และหากเจ้าทำบาปโดยประพฤติเยี่ยงเดรัจฉาน เจ้ายิ่งบาปหนักทวีคูณที่ไม่ยอมรับความจริง!)

แต่เมื่อข้าพเจ้าอ่านต่อไป อวิเซนนาอีกนั่นแหละที่แนะว่ายังมีวิธีเยี่ยวยาทางอื่น อาทิเช่น ขอความช่วยเหลือจากหญิงชราช่ำชอง ให้นางคอยใส่ร้ายป้ายสีบุคคลผู้เป็นที่รัก ดูเหมือนหญิงชราจะชำนาญการนี้มากกว่าบุรุษ นี่อาจเป็นทางรักษาก็ได้ แต่ข้าพเจ้าจะไปหาหญิงชราที่ไหนในอาราม (อย่าว่าแต่สตรีสาวเลย) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าคงต้องบากหน้าขอให้นักบวชสักคนช่วยพูดจาใส่ไคล้หญิงสาว แต่ใครดีล่ะ? นอกจากนั้น นักบวชน่ะหรือจะรู้จักผู้หญิงได้ดีเหมือนพวกนังยายเฒ่าปากยาวทั้งหลาย? วิธีรักษาประการสุดท้ายที่ปราชญ์ชาวซาราเซน(2) ผู้นี้ชี้แนะยิ่งไม่เข้าท่า เพราะเสนอให้คนป่วยรักเสพสังวาสกับนางทาสหลายๆ คน นี่ยิ่งเป็นทางแก้ที่ไม่เหมาะสมกับคนเป็นนักบวชเลย แล้วถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าถามใจตนขึ้นในที่สุด นักบวชหนุ่มควรรักษาโรครักเยี่ยงไรหนอ? หรือไม่มีทางเยียวยา? ข้าพเจ้าควรหันไปพึ่งเซเวรินุสกับสมุนไพรของเขาไหม? ข้าพเจ้าอ่านเจออรรถข้อหนึ่งของอาร์โนลด์แห่งวิลลาโนวา ประพันธกรที่เคยได้ยินวิลเลียมเอ่ยถึงอย่างยกย่องนับถือ ท่านผู้นี้อธิบายว่า โรคป่วยรักเกิดจากการมีธาตุอารมณ์(3) กับธาตุลมมากเกินไป เมื่ออวัยวะต่างๆ ในร่างกายตกอยู่ในภาวะที่มีความชื้นกับความร้อนเกินเหตุ เพราะเลือด (ซึ่งเป็นตัวผลิตเชื้อสืบพันธุ์) เพิ่มปริมาณมากเกินพอดี จึงผลิตเชื้อสืบพันธุ์มากไป ก่อให้เกิด “complexio venerea”(4) และดำฤษณาแก่กล้ามิว่าในชายหรือหญิง มีต่อมทำงานด้านการวินิจฉัยตั้งอยู่ในสมองส่วนด้านหลังของโพรงสมองศุนย์กลาง (หมายถึงอะไร? ข้าพเจ้าสงสัยจริง) ซึ่งมีหน้าที่รับรู้มโนทัศน์พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะทั้งห้า เมื่อความปรารถนาต่อวัตถุที่ได้รับรู้ทางประสาทสัมผัสมีอำนาจแก่กล้าเกินไป สมรรถนะของต่อมวินิจฉัยจะฟั่นเฟือน และมันรับเอาแต่ภาพละเมอเพ้อพกถึงบุคคลที่รัก จากนั้นมีอาการอักเสบเกิดขึ้นทั่วทั้งตัวและวิญญาณ เกิดอารมณ์เศร้าสลับหรรษา เพราะความร้อน (ในช่วงอารมณ์หดหู่ มันจะถดถอยไปอยู่ในส่วนลึกสุดของร่างกาย ทำให้บริเวณผิวหนังหนาวเยือก) ในยามหรรษาจริตจะพลุ่งขึ้นสู่เบื้องบน บันดาลให้ใบหน้าร้อนผะผ่าว การรักษาตามที่ท่านอาร์โนลด์แนะนำไว้ คือพยายามข่มความมั่นใจและลดทอนความหวังที่จะได้มาซึ่งบุคคลที่ใฝ่ใจปฏิพัทธ์ หากทำได้ ความคิดหมกมุ่นฟุ้งซ่านจะหายไปเอง

ทำไมล่ะ ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าก็หายจากโรคแล้วซิ หรือใกล้ทุเลาแล้ว ข้าพเจ้ารำพึง เพราะข้าพเจ้าช่างมีความหวังน้อยนิดหรือไม่มีหวังเลยที่จะได้เห็นนางในความคำนึงอีก และถึงได้เห็นก็ไม่มีหวังได้มา ถึงได้มาก็ไม่มีหวังได้ครอง ถึงได้ครองก็ไม่มีหวังได้รักษาคู่กาย เพราะมีอุปสรรคทั้งสถานะบรรพชิต ทั้งหน้าที่ที่ฐานันดรของวงศ์ตระกูลตีตราไว้ให้… ข้าพเจ้าก็รอดแล้วซิ บอกกับตัวเองเช่นนั้นพลางปิดหนังสือและตั้งสติ พร้อมกับที่วิลเลียมเดินเข้าห้องมา?

(1) “ดำและขม”
(2) คำเรียกชาวอาหรับในสมัยสงครามครูเสด
(3) ธาตุอารมณ์ (humour) ในสมัยกลาง เชื่อกันว่ามีของเหลวสี่อย่างในร่างายคือเลือด น้ำเมือก น้ำดี และกรดน้ำดีดำ ของเหลวทั้งสี่อย่างนี้เป็นตัวกำหนดบุคลิกและสุขภาพของคน ถ้ามีอย่างใดอย่างหนึ่งมากไป จะเป็นอิทธิพลให้เกิดนิสัยดังนี้คือ ร่าเริง (sanguine) เจ้าน้ำตา (phlegmatic) เจ้าโทโส (choleric) เจ้าทุกข์ (melancholic) ตามลำดับ บุคคลที่มีบุคลิกและสุขภาพดีควรมีความสมดุลของธาตุทั่งสี่ในร่างกาย
(4) “อารมณ์ทางเพศ”

หมายเหตุ :หนังสือ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ต้นฉบับเป็นนวนิยายอิตาเลียน ฉบับแปลภาษาอังกฤษชื่อ The Name Of The Rose ดูรายละเอียดได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/The_Name_of_the_Rose

ผู้ประพันธ์ชื่อ อุมเบโต เอโก (Umberto Eco ดูรายละเอียดที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Umberto_Eco) เป็นศาตราจารย์ทางสัญศาสตร์ สนใจศึกษายุโรปสมัยกลางรวมไปถึงภาษาละตินรวมทั้งความรู้ในยุคนั้น และที่ลอกมานั้นก็เป็นสำนวนแปลของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์จริงๆ